เงินบาทปิด 32.89/90 ทรงตัวจากช่วงเช้า หลังยังไม่ผ่านแนวต้านที่ 32.93

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2014 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.89/90 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 32.90/91 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 32.88 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 32.93 บาท/ดอลลาร์
"กลับมาปิดที่ระดับโลว์ของวัน หลังจากเปิดตลาดยืนอยู่เหนือ 32.90(บาท/ดอลลาร์) และพยายามผ่านแนวต้านที่เป็นไฮเดิม 32.93(บาท/ดอลลาร์) ระหว่างวันเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ผลจากกลางคืนจะทำให้ช่วงเปิดตลาดมี gap ซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายวัน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 32.80-32.95 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.34 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.90 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2464 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2440 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,593.82 จุด ลดลง 0.09 จุด, -0.01% มูลค่าการซื้อขาย 49,721.35 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 6.81 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง คาดรัฐบาลจะตั้งงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 59 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 58 อีก 12-13% เนื่องจากภาครัฐยังต้องมีการลงทุนในด้านต่างๆ อีกมาก ทั้งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งโครงการต่างๆ ทางด้านสาธารณสุข และการศึกษาที่ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก และต้องมีการใช้งบลงทุนเข้าไปช่วยผลักดัน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแผนเบื้องต้น ซึ่งจะต้องสรุปอีกครั้งในช่วงเดือน ม.ค.58
  • นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง มั่นใจในปีงบประมาณ 58 จะสามารถจัดเก็บรายได้ภาครัฐได้ตามเป้าหมายที่ 2.2 ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 59 เชื่อว่าจะจัดเก็บได้มากขึ้น เนื่องจากภาครัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีมรดก รวมทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนจะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่คาดว่าอย่างน้อยจะปรับเพิ่มขึ้น 1% ในช่วงปลายปี 58 แต่คงต้องรอสรุปความชัดเจนอีกครั้ง
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 107.19 เพิ่มขึ้น 1.26% จากเดือน พ.ย.56 แต่ลดลง 0.12% จาก ต.ค.57 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 105.20 เพิ่มขึ้น 1.60% จากเดือน พ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.11% จาก ต.ค.57 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ 2.00-2.80% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 58 คาดว่าจะขยายตัว 1.8-2.5%
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นลง 1 ขั้น สู่ระดับ A1 จาก Aa3 เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูสถานะการคลัง
  • นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในการอภิปรายทางโทรทัศน์ร่วมกับกลุ่มผู้นำพรรคการเมืองอีก 7 พรรคว่า นโยบายเศรษฐกิจของเขาช่วยให้ญี่ปุ่นญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดบวกเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายบอนด์หลังตลาดหุ้นโตเกียวดีดตัวขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 335 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.420% เพิ่มขึ้น 0.005% จากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ธ.ค.ขยับลง 0.01 จุด สู่ระดับ 146.90 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของอินโดนีเซียในเดือน พ.ย.ลดลงแตะ 48.0 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากระดับ 49.2 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ซบเซาและราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังรัฐบาลลดการให้เงินสนับสนุนด้านพลังงานเมื่อเดือนที่แล้ว
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 7.75% จาก 7.5% ในการประชุมนัดพิเศษหลังอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย เผยอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.23% ในเดือน พ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปีหลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียปรับขึ้นราคาน้ำมัน ขณะที่เงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 4.83%
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของสเปนในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 54.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2550 เมื่อเทียบกับ 52.6 ในเดือน ต.ค.แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาวะการดำเนินงานในภาคการผลิตของสเปน ทั้งนี้ภาวะทางธุรกิจในภาคการผลิตของสเปนได้ปรับตัวดีขึ้นในเดือน พ.ย. และแข็งแกร่งขึ้นกว่าในเดือน ต.ค. โดยผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ต่างเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่การจ้างงานก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้นด้วย
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของอิตาลีในเดือน พ.ย.ทรงตัวที่ 49.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน และไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ต.ค.แสดงให้เห็นว่าภาวะทางธุรกิจของอิตาลียังอยู่ในภาวะย่ำแย่ ทั้งนี้ภาคการผลิตของอิตาลียังคงหดตัวลงในเดือน พ.ย. โดยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ธุรกิจใหม่ๆลดลงอีกครั้ง
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนีแตะที่ 49.5 ในเดือน พ.ย.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน หลังจากแตะระดับ 51.4 ในเดือน ต.ค. ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าสภาวะการดำเนินงานในภาคการผลิตของเยอรมนีกลับเข้าสู่ภาวะหดตัวอีกครั้ง โดยปัจจัยหลักหลักที่ทำให้ดัชนี PMI เดือน พ.ย.ปรับตัวลงมาจากภาคการผลิตที่ขยายตัวอย่างอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2556 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ก็ร่วงลงหนักสุดในรอบเกือบ 2 ปี

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ