BBL คาดส่งออกปี 58 โตกว่า 7%จากฐานปีนี้ต่ำ ดัน GDP โตกว่า 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2014 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 58 จะเติบโตได้อย่างน้อย 4% โดยปัจจัยที่จะเข้ามาผลักดันให้ GDP ขยายตัวมองว่ามาจาก การลงทุนภาครัฐฯเป็นหลัก โดยเชื่อว่าหากการลงทุนภาครัฐฯออกมาชัดเจนเชื่อวืภาคเอกชนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและกลับมาลงทุนอีกครั้ง

ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้อย่างน้อย 7% โดยปัจจุบันมีสัญญาณที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าการส่งออกหลักๆที่ชะลอตัว คือ ยานยนต์เท่านั้น ขณะที่การส่งออกด้านอื่นๆยีงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียรมาร์ และเวียดนาม ที่มีสัดส่วนถึง 20%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น ประเมินว่า ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงานที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

"เรื่องสำคัญในปัจจุบันคือการลงทุนของภาครัฐฯที่ต้องสร้างความชัดเจนและทำให้เกิดขึ้นจริงให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะให้เอกชนมีความเชื่อมั่น และกลับมาลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้เองภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุน ซึ่งหากภาครัฐฯมีการลงทนให้เห็นชัดเจนก่อน ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟรางคู่ โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จะทำให้มีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการส่งออกเองตอนนี้ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ตัวที่ฉุดการส่งออกมากๆนั้นเป็นเพียงแค่กลุ่มยานยนต์เท่านั้น แต่โดยรวมแล้วการส่งออกด้านอื่นๆยังถือว่าดี"นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง ทั้งการส่งออก และการบริโภค ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด จึงมองว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาลดดอกเบี้ยลงจะไม่เกิดขึ้นแล้ว

ทั้งนี้มองว่า มองว่า ธปท.จะเริ่มพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดภายในช่วงไตรมาส 1/58 - ต้นไตรมาส 2/58 เนื่องจากธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

สำหรับการปล่อยกู้ในโครงการนาโนไฟแนนซ์ให้รายย่อยนั้น นายกอบศักดิ์ เชื่อว่าจะไม่เป็นการสร้างความเสี่ยง หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารอย่างแน่นอน เนื่องจากมองว่าการปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์จะปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำมาก ซึ่งเชื่อว่าสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์จะไม่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน

โดยมองว่าโครงการดังกล่าว จะเป็นการช่วยผู้ที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้ามาอยู่ในระบบ และลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนต่างๆที่คิดอัตราดอกเบี้ยในราคาแพง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ