เงินบาทปิด 35.79 แข็งค่าตามภูมิภาค คาดพรุ่งนี้แกว่งแคบ รอปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2015 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 35.79 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.82/84 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคในกรอบระหว่าง 35.79-35.84 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทปิดตลาดแข็งค่าสุดของวัน หลังดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าตามแรงซื้อขาย" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ตลาดจับตาดู ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาคองเกรส ในวันที่ 3 ธ.ค., การประชุม ECB Meeting ในวันที่ 4 ธ.ค. และการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ในวันที่ 5 ธ.ค.

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 35.75-35.90 บาท/ดอลลาร์

"พรุ่งนี้ค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวในกรอบ จนกว่าจะมีความชัดเจนของตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญทยอยออกมา" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 123.13 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 123.14/17 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0585 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0578/80 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,357.01 จุด ลดลง 2.69 จุด, -0.20% มูลค่าการซื้อขาย 33,549.57 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 320.68 ล้านบาท(SET+MAI)
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน พ.ย.58 อยู่ที่ 106.15 หดตัว -0.97% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.57 ขณะที่ตลาดคาดการณ์ -0.9% ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.58) หดตัว -0.90% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องถึงปลายปี แต่อยู่ในกรอบ -1 ถึง -0.2% ส่วนปี 59 คาดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1-2%
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.58 ที่จะรวมหยวนอยู่ในตะกร้าเงินสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) นับเป็นก้าวสำคัญของจีนในการเพิ่มบทบาทของตัวเองในเวทีโลก โดยคงยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ขณะที่ในระยะข้างหน้า ปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อหยวนยังคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนในระยะกลาง/ยาว หากหยวนเป็นที่นิยมใช้ในตลาดโลกมากขึ้น ทางการไทยก็น่าจะต้องทยอยเพิ่มสัดส่วนหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ แม้ในปัจจุบันไทยเริ่มมีการใช้หยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แล้วบ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
  • นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้าและการลงทุนจากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป เพราะจากนี้ไปความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุน จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวกคล่องตัวที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีน ตามลำดับ และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
  • นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) มูลค่าการลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาท
  • นายยี่ กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ระบุจีนยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับลดค่าเงินหยวน และจีนจะรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้อนุมัติให้นำสกุลเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right) ของ IMF
  • ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 6.75% ในการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด หลังจากที่ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมครั้งก่อนหน้านี้

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ