สนข.คาด ก.ค.นี้ได้ข้อสรุปการออกแบบ-ผลศึกษา EIA ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 6, 2016 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคมว่า คาดว่าจะสรุปรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ปลายเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งตามแผนจะเสนอแผนแม่บทดังกล่าวต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อให้ความเห็นชอบกรอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขณะนี้การศึกษามีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีการสัมมนาครั้งที่ 3 เพื่อให้ได้ข้อสรุปผลการศีกษาความเหมาะสมของโครงการ ผลการวิเคราะห์ด้านจราจร การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์

ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ผลการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่ 2,325 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ, พื้นที่สวนสาธารณะ, พื้นที่พัฒนาโครงการ กม. 11 และพื้นที่ย่านตึกแดง ซึ่งได้ออกแบบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่โครงการทั้งทางเดินเท้า และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกับพื้นที่ต่างๆ โดยรอบ

โดยเบื้องต้นผลการศึกษาโครงการ จะประกอบด้วย 1. แนวทางการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (Transit Oriented Development :TOD) มาใช้ทั้งในบริเวณพื้นที่ 2,325 ไร่ และพื้นที่โซน D ประมาณ 80 ไร่ โดยกำหนดแนวคิดการพัฒนา คือ "ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN" เพื่อส่งเสริมให้สถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non – Motorized Transport) และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มเส้นทางการเดินเท้า มีรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT มี 16 สถานี เปิดให้บริการได้ในปี 2565 และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 14,977 คนต่อวัน นอกจากนี้ จะมีทางเดินยกระดับ (Sky Walk) เชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีรถไฟฟ้าBTS (หมอชิต) สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT (จตุจักร) ระยะทางประมาณ 1.2-1.3 กม. รวมถึงมีทางจักรยานด้วย

2. ผลการศึกษาพบว่า ทางเดินเชื่อมต่อหลักซึ่งเอกชนผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ บนแปลงที่ดินต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (แปลง D) ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีหลัก ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร และกำแพงเพชร จนถึงสถานีย่อย บขส.หมอชิต 2 มีลิฟท์ บันไดเลื่อน ตลอดจนระบบปรับอากาศ โดยสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 37,000 คน/วัน ในปี 2580 นอกจากนี้ได้ออกแบบทางเดินระดับดิน เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรจนถึงสถานีย่อย บขส.หมอชิต 2 สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 5,000 คน/วัน ในปี 2580

3.ผลการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) มีเส้นทางให้บริการประมาณ 10 กิโลเมตรทั้งสองทิศทาง มีจุดขึ้นลง 16 สถานี และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ วิ่งข้ามพวงรางด้วยทางวิ่งยกระดับบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 2 และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกำแพงเพชร 4 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 3 แล้วจึงเลี้ยวเข้าพื้นที่ กม. 11 เพื่อกลับเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 2 และวนกลับสถานีกลางบางซื่อ และมีศูนย์ซ่อมบำรุงบนเนื้อที่กว่า 7 ไร่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน

โดยจากการจัดสัมมนา Market Sounding ซึ่ง มีภาคเอกชนไทยและต่างประเทศให้ความสนใจร่วมลงทุนพัฒนาโครงการเช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ รวมถึงเอกชนญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟ (TOD) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเป็นผู้รับผิดชอบการคัดเลือก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าลงทุนของแต่ละแปลงจะไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ