กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียน"ลองกอง-ทุเรียน-สับปะรด-ลำไยอบแห้ง"เป็นสินค้า GI พร้อมเร่งให้มีครบ 77 จ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2016 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. รวม 4 รายการ คือ ลองกองตันหยงมัส จ.นราธิวาส, ทุเรียนปราจีน จ.ปราจีนบุรี, สับปะรดบ้านคา จ.ราชบุรี และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จ.ลำพูน ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว 75 สินค้า จาก 53 จังหวัด

สินค้า GI ทั้ง 4 รายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ได้แก่ ลองกองตันหยงมัส จ.นราธิวาส เป็นลองกองพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งปลูกในพื้นที่จ.นราธิวาส ผลอ่อนเปลือกจะเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกผิวเปลือกจะเป็นสีเหลือง เปลือกจะไม่มียาง ล่อนออกจากเนื้อได้ง่าย รูปทรงเหมือนหยดน้ำ เนื้อใสหอมหวาน มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-2.5 ซม. รสชาติหวาน ค่าความหวาน 17-19 องศาบริกซ์ ปลูกได้ทั้งพื้นที่ดอนและพื้นที่ราบวิธีเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรตัดผลทีละช่อ

ทุเรียนปราจีน จ.ปราจีนบุรี เป็นการนำทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธ์พื้นเมืองอื่นๆ (กบชายน้ำ ชมพูศรี กำปั่น) มาปลูกในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ์ และนาดี จ.ปราจีนบุรี จึงได้ทุเรียนที่มีเนื้อสีเหลือง แห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน เปลือกผลบาง ผิวเปลือกสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม หนามถี่ สภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลง ทำให้การระบายน้ำสะดวก น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ลักษณะภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน ประกอบกับความชื้นสัมพัทธ์ เหมาะสมพอดีกัน

สับปะรดบ้านคา จ.ราชบุรี เป็นการนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย รสหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียด หนานิ่ม มีตาผลค่อนข้างตื้น เมื่อปอกเปลือกแล้ว ตาผลจะติดออกไปกับเปลือก ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ จอมบึง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา จ.ราชบุรี ซึ่งขนาดผลใหญ่จะเป็นทรงกรวย คือ ส่วนโคนผลมีความกว้างมากกว่าส่วนปลายผล ขนาดกลางและเล็กจะมีรูปทรงกระบอก โดยส่วนโคนและส่วนปลายผลมีความกว้างใกล้เคียงกัน น้ำหนักผล 1-3 กก. การเก็บเกี่ยวจะเก็บพร้อมจุกและก้าน โดยเลือกผลที่ร่องตาตึงเต็มที่ ก้านผลเหี่ยวเล็กน้อย ดอกย่อยเหี่ยวแห้ง ตาด้านล่างเปิดมาก เนื้อสีเหลือง ไม่น้อยกว่า 25% ของความยาวผล

ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จ.ลำพูน เป็นลำไยอบแห้งที่มีสีเหลืองทอง เนื้อหนา แห้งสนิทไม่ติดกัน ไม่เหนียวติดมือ มีรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นลำไยพันธุ์ดอที่ปลูก และผ่านกรรมวิธีการอบแห้งในเขตพื้นที่ จ.ลำพูน สามารถเก็บได้นานโดยที่กลิ่นและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ขนาดผลสม่ำเสมอและไม่มีสิ่งแปลกปลอม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้นคุณภาพ มีกระบวนการผลิตที่ได้ มาตรฐานการปฏิบัติการเกษตรที่ดี (GPA) ผลไม่แตกเน่า หรือมีแมลงเจาะ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2.21 ซม.ขึ้นไป ผ่านการอบ 6 ขั้นตอน ตามกรรมวิธีที่สืบต่อกันมา

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI จาก 15 จังหวัด ยังเหลืออีก 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเร่งส่งเสริมและประสานงานกับจังหวัดที่เหลือต่อไป เพื่อให้มีสินค้า GI ครบทั้ง 77 จังหวัด

"กรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ พร้อมเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 60"รมว.พาณิชย์ กล่าว

โดยในปี 2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนจะลงพื้นที่ใน 6 จังหวัดที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน หรือยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี ระนอง สตูล สมุทรสาคร สิงห์บุรี และกำแพงเพชร โดยกรุงเทพฯ และสระแก้วลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับจังหวัดและผู้ผลิตแล้ว รอการยื่นคำขอ ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นัดประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สิงห์บุรี และกาญจนบุรี พร้อมด้วยเกษตรกร ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้อง

สำหรับสินค้าที่มีการขึ้นทะเบียน GI แล้วมีแผนจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมการตลาดและสร้างการรับรู้คุณภาพ ชื่อเสียงของสินค้า GI ไทยทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น

ทั้งนี้ สินค้า GI เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้าจะมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีการผลิตสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น ซึ่งจุดเด่นนี้และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตแท้จริง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI และ ส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นแหล่งกำเนิดสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ