(เพิ่มเติม1) ครม.ไฟเขียวโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมาวงเงิน 1.79 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 11, 2017 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100% และจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบต่อไป

"วันนี้ ครม.มีมติอนุมัติให้ รฟท.ดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพ-นครราชสีมา) วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 ปี" นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

เนื่องจากโครงการนี้ ถือเป็นการปฏิรูประบบรถไฟครั้งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหากไม่ดำเนินการโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่โครงข่ายการคมนาคมสายไหมของจีนที่เชื่อมโยงจากยุโรป-เอเชีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทางรถไฟระยะทางรวม 53,700 กิโลเมตร โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 50%

"ถ้าเราไม่ก่อสร้างเส้นทางสายนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายดังกล่าวก็จะหายไป จะทำให้ประเทศไทยตกขบวนได้ ทำให้เราไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และในอนาคตจะต่อไปถึงขอนแก่น หนองคาย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเปิดโอกาสทำการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กับประชาชน

อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

นายกอบศักดิ์ กล่าว เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อไปถึงจีนเป็นระยะทาง 1,800 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางในประเทศไทย 647 กิโลเมตร เส้นทางใน สปป.ลาว 440 กิโลเมตร และเส้นทางในจีน 777 กิโลเมตร

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา, นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด

โดยในการพัฒนาโครงการนี้จะเกาะไปตามเส้นทางรถไฟเดิมให้มากที่สุด หากจะมีการเวนคืนก็เพื่อให้การเดินรถตีโค้งได้ดี การขับเคลื่อนเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้มีการเวนคืนประมาณ 2,815 ไร่ ประกอบด้วย 6 สถานี คือ บางซื่อ, ดอนเมือง, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปากช่อง และนครราชสีมา โดยจะมีศูนย์ควบคุมและศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่อำเภอเชียงรากน้อย

สำหรับการให้บริการครั้งแรกในปี 2564 จะมีรถ 6 ขบวน วิ่งให้บริการ 11 เที่ยว/วัน ทุก 90 นาที ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คน/ขบวน ใช้เวลา 1.17 ชั่วโมง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 5,300 คน/วัน และในปี 2594 จะมีผู้โดยสารขั้นต่ำ 26,800 คน/วัน จะมีรถ 26 ขบวน วิ่งให้บริการทุก 35 นาที ค่าโดยสารเบื้องต้น 80+1.80 บาท/กิโลเมตร เช่น กรุงเทพ-สระบุรี จะคิด 278 บาท, กรุงเทพ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพ-นครราชสีมา 535 บาท

สำหรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว 8.56% และหากคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยกว้าง ได้แก่ การพัฒนาเมืองบริเวณรอบสถานีจะทำให้ EIRR อยู่ที่ 11.68%

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น สัญญาส่วนแรกที่เป็นการก่อสร้างและงานโยธาจะว่าจ้างผู้รับเหมาคนไทย และใช้วัสดุภายในประเทศ ซึ่งจะมีมูลค่างาน 75% ของโครงการ ส่วนสัญญาที่สองจะเป็นการวางระบบไฟฟ้า และอาณัติสัญญาณ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะมีมูลค่างาน 25% ของโครงการที่จะว่าจ้างจีน ทั้งนี้ ครม.ได้กำชับในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย

"กระทรวงคมนาคมตั้งใจว่าจะใช้สัญญาคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ..." นายกอบศักดิ์ กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา จะว่าจ้างจีนเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งได้เจรจาต่อรองปรับลดจากวงเงิน 1,824 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,706 ล้านบาท หรือลดลง 118 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาการออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธากับจีนได้ในเดือนส.ค.นี้ หลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 20 ในวันที่ 15-17 ส.ค.นี้ที่ไทย ขณะที่สัญญางานที่ปรึกษาการควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา คาดว่าจะลงนามได้ในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ จะเริ่มก่อสร้างช่วงแรก ระยะทาง 3.5 กม. โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะจ้างกรมทางหลวง (ทล.)เป็นผู้ดำเนินการ ในวงเงิน 425 ล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเปิดประมูล ซึ่งเป็นว่าจ้างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และโครงการนี้คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการปลายปี 2564

รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรอบวงเงินโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ- นครราชสีมา อยู่ที่ 179,413 ล้านบาท แบ่งเป็นรายปี ปี 2560 จำนวน 2,648 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 43,097 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 62,216 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 59,702 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 12,017 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหาวงเงินลงทุนโครงการนี้

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางโครงการนี้ ได้แก่ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ และ นครราชสีมา 272 ไร่ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ของรฟท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ