เอกชนเชื่อ EEC ช่วยขับเคลื่อนศก.ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แนะเร่งส่งเสริมอุตฯไทยก้าวขึ้น 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 21, 2017 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงามสัมมนา "EEC แม่เหล็กเชื่อมโลก" ในหัวข้อการเสวนาผู้ประกอบการ "6 เดือนกับความร่วมมือของภาคเอกชน" ว่า ประเทศไทยจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ในอีก 20 ปี ซึ่ง EEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนไปได้ โดยมอง GDP ของประเทศไทย ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 40%, ภาคเกษตร 10% และภาคบริการ 50% ขณะที่มีการใช้แรงงานราว 20:40:40 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว มี GDP ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 70-80% ซึ่งในอนาคตการที่ไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จำเป็นต้องเน้นการเติบโตในส่วนของภาคบริการมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพของคนด้วย

สำหรับแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวภายใต้ EEC ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 3 จังหวัด โดยจะต้องมีการผลิตอาหารเข้ามามากขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่ง จ.ชลบุรี จะเน้นการท่องเที่ยวแบบสีสัน, ศูนย์ประชุมนานาชาติ และการแพทย์, จ.ฉะเชิงเทรา จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒธรรม และ จ.ระยอง จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ โดยจะมีการสร้างศูนย์ฝึกอบรม และเทรนนิ่งทางด้านท่องเที่ยวในพื้นที่บางแสน, เมืองพัทยา จะมีการสร้างรถราง (Tram) เพื่อให้บริการผู้สูงอายุ ส่วนทางใต้ของพัทยา จะสร้างเป็นพัทยาเมืองใหม่ และแหลมบาลีไฮ จะสร้างเป็น Cruise Terminal

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาอุตสาหกรรมฯ มีความตื่นตัว โดย ส.อ.ท.ได้มีการประกาศนโนบาย Industry 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐ โดย ส.อ.ท.ได้ทำการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ 2-2.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เครื่องจักรกลธรรมดา และกึ่งอัตโนมัติ

ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมไทยจะเติบโตในระดับ 4 ได้นั้น ในช่วง 5 ปีแรก ส.อ.ท.ได้วางกลยุทธ์ที่จะผลักดันไว้ โดยในระยะแรกจะมีการผลักดันจาก 2 ไปเป็น 3 ด้วยการเน้น Productivity โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องมีกำลังการผลิตราว 75% เพื่อจะช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลผลิตต่อหัวจะต้องเพิ่มเป็น 3 เท่า ส่วนในระยะต่อไปหรือ 5 ปีข้างหน้า จะมีการผลักดันจาก 3 ขึ้นไปเป็น 4 โดยการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และใช้ Internet of thing ในการเชื่อมต่อระบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ เครื่องมือที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะทำให้สามารถก้าวไปถึงระดับ 4 ได้คงไม่พ้นเรื่องของหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ โดยมีการคาดการณ์ของโลกในปี 62 จะมีอุตสาหกรรม 1.4 ล้านอุตสาหกรรม ที่จะมาใช้ robotic and automation และจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ต่อประชากร 1 หมื่นคน ราว 53 ตัว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 69 ตัว ต่อ 1 หมื่นคน

ส่วนใน EEC ที่จะมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมี 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เรียกว่า First S-CURVE และอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-CURVE ที่รวมทั้ง robotic and automation เป็นต้น ซึ่งมองว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้ได้มีการวางแผน และได้นำเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องโรดแมพการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวทางการส่งเสริมที่จะให้ผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ให้ได้มากที่สุด เช่น การสนับสนุนเงินกู้, BOI ลดภาษีนิติบุคคล 50% และกระทรวงการคลังให้นำค่าใช่จ่าย 300% สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น มาหักลดหย่อนภาษี ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน และพัฒนา SI หรือนักออกแบบและติดตั้ง เพื่อให้ไทยสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้เอง คาดจะต้องมีบุคคลากรดังกล่าวเบื้องต้นจำนวนราว 1,400 คน และตั้งเป้ามีต้นแบบของหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นราว 150 ผลิตภัณฑ์ และสร้างบุคลากรในส่วนนี้มากขึ้น และจะต้องมีผู้ประกอบการใช้งานราว 100 หุ่นยนต์

ด้านนายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า บริษัทฯ มีโครงการทั้งหมด 3 โซนด้วยกัน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ EEC โดยโครงการแรกคือ EECI ที่ให้นักวิจัยไปอยู่รวมกันและคิดค้นร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีความทันสมัย ซึ่งในเฟสแรกจะมีการดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และในระยะถัดไปก็จะต่อยอดในการประดิษฐคิดค้นในเรื่องของยานยนต์ต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต และโครงการส่วนที่ 2 กลุ่มปตท. เองได้เข้าไปให้การสนับสนุนการให้บริการเชื้อเพลิงในสนามบินอู่ตะเภา และรองรับบริการภาคพื้น เพื่อรองรับการเติบโตสนามบินอู่ตะเภา และในโครงการที่ 3 กลุ่ม ปตท.มีการลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนด้วยกัน ในโครงการไบโออีโคโนมี

ทั้งนี้ ส่วนของภาคตะวันออก ทางกลุ่มปตท.ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมโดยตรง แต่มีการดำเนินการผ่านบริษัทย่อย หรือ บมจ.โกลบอลกรีน เคมิคอล (GGC) ในการทำโครงการ B100

นายสมศักดิ์ กาญจนาคาน ผู้อำนวยการบริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นมองภูมิภาคเอเชียว่าน่าลงทุน และเมื่อพิจารณาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าประเทศไทยมีจุดเด่นมากที่สุดในเรื่องของภูมิภาคการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ และจุดที่เหมาะสมที่สุด คือ EEC อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติมอง คือ นโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และเติมเต็มความต้องการในอนาคตได้มากเพียงใด

สำหรับแผนการลงทุนบริษัทฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเพิ่มการลงทุนได้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้หรือไม่ โดยบริษัทฯ ทราบดีถึงสถานะและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้งนโยบายรัฐบาลก็มีความชัดเจนมากขึ้น และ BOI ก็มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ