รมว.พลังงาน เร่งสรุปความชัดเจนสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุภายใน 1 ปี-แผน PDP ใหม่ชัดเจนใน 3-6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 8, 2017 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันกรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 ทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ เป็นเรื่องเร่งด่วนในการดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะเป็นการประมูลใหม่ที่เลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปและมีความชัดเจนภายในรัฐบาลชุดนี้ หรือภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า ขณะที่การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ใหม่คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 3-6 เดือน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาด้วย

"แหล่งบงกชและเอราวัณมีการผลิตก๊าซฯต่อเนื่องมา 30-35 ปีเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาตลอด ความสำคัญของ 2 แหล่งนี้ต่อความยั่งยืนต่อความแข็งแกร่งของด้านพลังงานของประเทศยังมีอยู่มาก กระทรวงพลังงานจะดำเนินการในช่วงนี้ให้สำเร็จในเรื่องบางเรื่องก็ขอเน้นที่เรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน...เรื่องเร่งด่วนในวันนี้คือเรื่องประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชให้เกิดความชัดเจนและสำเร็จในปีหน้า"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวว่า สำหรับการประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้งบงกช และเอราวัณ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ของทุกฝ่าย เพราะไทยเพิ่งจะเคยมีแหล่งสัมปทานขนาดใหญ่ที่หมดอายุ และเพิ่งจะเปิดประมูลในรูปแบบ PSC เป็นครั้งแรก จากเดิมที่การผลิตปิโตรเลียมของไทยใช้รูปแบบสัมปทานมาโดยตลอด แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาทั้งในการออกหนังสือเชิญชวนประมูล (TOR) ได้เพราะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องแบบสัญญา PSC ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็ยืนยันว่าจะทำให้สำเร็จโดยเร็วภายในรัฐบาลชุดนี้

ส่วนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ทั่วประเทศนั้น แม้จะมีการทำคู่ขนานกันไป แต่เชื่อว่าการจะทำให้สำเร็จได้ก็ต้องให้เรื่องประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ มีความชัดเจนก่อน

สำหรับการจัดทำแผน PDP ใหม่ที่ปัจจุบันใช้อยู่เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำมานานแล้ว ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะต้องก้าวตามให้ทัน โดยปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้ดูแลและปรับปรุงแผน PDP ใหม่ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า

ปัจจุบันการปรับปรุงแผน PDP ดังกล่าวมีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนแรก ที่ได้มีการกำหนดคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว แต่อาจจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนขั้นตอนที่ 2-6 จะเป็นการให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตรวจสอบระบบส่ง ,การรวมแผนจัดทำการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) ,การจัดทำพลังงานทดแทนรายภาค ,แผนการอนุรักษ์พลังงาน และขั้นตอนสุดท้าย เป็นการการจัดทำโรงไฟฟ้าและคัดเลือกประเภทเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าให้เหมาะสมกับแผน ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดได้ว่าแผน PDP ใหม่จะมีเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาหรือไม่

อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพานั้น เห็นว่าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ ไม่พิจารณาด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือพิจารณาเพียงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ยังต้องพิจารณาถึงด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย ขณะที่การท่องเที่ยวนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากของภาคใต้ ซึ่งก็ต้องเตรียมปริมาณไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

นายศิริ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการช่วยแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มดิบนั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงานก็จะช่วยอย่างเต็มที่ในลดระดับสต็อกของน้ำมันปาล์มดิบที่ปัจจุบันมีอยู่ในระดับสูง 5.4 แสนตัน ซึ่งข้อเสนอในส่วนของการนำน้ำมันปาล์มดิบมาเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงซึ่งไม่คุ้มค่า แต่ในส่วนที่จะช่วยดำเนินการได้คือการนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซล (B100) แล้วเก็บสต็อกให้มากขึ้น ซึ่งรูปแบบการดำเนินการยังไม่มีความชัดเจนและบางส่วนอาจจะต้องเป็นข้อกำหนดเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เพื่อให้ไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้และราคา โดยมีเป้าหมายจะช่วยลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบราว 1 แสนตัน ภายใน 1-2 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ