(เพิ่มเติม) ไทยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยง 6 ปท.ลุ่มน้ำโขง หนุนเพิ่มรายได้-ความสามารถแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2018 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "25 ปีของความสำเร็จในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" ว่า ช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมุ่งเน้นพัฒนาเส้นทางถนนเป็นหลัก และในช่วง 25 ปีต่อไปจากนี้ไปจะมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ท่าเรือ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้าและการท่องเที่ยว

โดยไทยมีการพัฒนารถไฟต่อเนื่องจากเดิมที่มีระยะทาง 4 พันกิโลเมตร ไทยยังพัฒนารถไฟฟ้าในเมือง รถไฟฟ้าระหว่างเมืองโดยมีรถไฟทางคู่ที่จะสามารถขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยจะมีรถไฟทางคู่ 2 เส้นใหม่ ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงจากฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตกอีกเส้นทางหนึ่งที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับ East-West Rail Link

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่รอกันมานาน 50-60 ปี ก็จะเกิดในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเตรียมเสนอ ครม.ในเดือน เม.ย.นี้ และมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือกับรัฐบาลจีน จากกรุงเทพ-หนองคาย จะเชื่อมเวียงจันทน์ (ลาว)-คุนหมิง จีนตอนใต้ รวมระยะทาง 1,619 กม. ใช้ระยะเวลาเดินทาง 13 ขั่วโมง

"ใน 25 ปีต่อไป เราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเส้นทางรถไฟ และท่าเรือจะมีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้เจรจาให้ลาว และเวียดนามมาใช้ท่าเรือแหลมฉบัง" นายอาคม กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวว่า นอกจากท่าเรือแหลมฉบังที่ไทยจะพัฒนาต่อไปแล้วก็ยังให้ความสำคัญทางอากาศ โดยจะเพิ่มความสะดวกสบายและย่นระยะเวลาเดินทางที่จะมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยว ทั้งนี้ไทยสามารถเป็นฮับในภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยมีสนามบินในแต่ละจังหวัดชายแดนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กลุ่ม GMS ควรวางแผนเรื่องเมืองชายแดนในอนาคต ซึ่งอยากเห็น Border Town Development ที่จะต้องมีการวางแผนรองรับกับความแออัดในอนาคต เพราะชายแดนมีเขตเศรษฐกิจ 10 เขตตามแนวชายแดน มีการเติบโตอย่างมาก

"เราจะพัฒนาต่อไป 25 ปีต่อไป โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้า กระทรวงคมนาคมในฐานะดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เราจะมีโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท บางส่วนได้ดำเนินการบ้างแล้ว และยังจะมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งจะขออนุมัติจาก ครม." นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแผนงาน GMS ในด้าน Connectivity มีถนน 1 หมื่นกม. สายส่งไฟฟ้า 2 กม. ทางรถไฟ 500 กม.

ด้าน Competitiveness บรรลุเป้าหมายการค้า 4.44 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยว 60 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง และด้าน Community มีการปรับปรุงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 1.2 ล้านเฮกเตอร์ กว่า 2.8 หมื่นครัวเรือนได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "โอกาสใหม่ของการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้การเชื่อมโยงกับยุทธศาตร์สำคัญในภูมิภาค" ว่า แผนงาน GMS ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มประเทศเล็กๆ พัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง เกิดการเชื่อมโยงในหลายๆ ประเทศก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้อัตราการเติบโตของแต่ละประเทศดีขึ้น

ส่วนการดำเนินการของแผนงาน GMS ในช่วงต่อไปถือเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเชื่อมั่นว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า กลุ่มประเทศ GMS จะเป็นพื้นที่ที่มีความคึกคักและน่าสนใจที่สุดของโลก โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 6.5-7% เทียบเท่ากับประเทศจีนหรืออินเดีย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โอกาสสำคัญที่ทำให้ GMS เติบโตได้ในอนาคต ประกอบด้วย การวางกรอบความเชื่อมโยง Connectivity Market Plan รอบใหม่ โดยจะใช้เวทีการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (ACMECS) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพกลางปีนี้ ในการจัดทำแผนรอบใหม่เชื่อมโยงและวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางถนน รถไฟและสนามบิน ท่าเรือ ระบบอินเทอร์เนต พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรม และด่านชายแดนต่างๆ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในส่วนของการลงทุน ประเทศไทยมีแผนที่จะชักชวนประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมกันกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ในกลุ่มประเทศอินโดจีน หรือกลุ่มประเทศ GMS ทั้งหมด เพื่อมาสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นแผนงานร่วมกัน

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จำเป็นต้องมีการวางระเบียบ กฏเกณฑ์ในการกำหนดการดำเนินการร่วมกัน พร้อมทั้งต้องมีการพัฒนาคน ด้วยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตบุคลากรที่สำคัญของกลุ่ม GMS และทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีแผนส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมให้บุคลากรไทยร่วมงานกับบุคคลต่างๆในกลุ่ม GMS ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ