นายกฯ ย้ำโครงการลงทุนมาบตาพุดต้องรอคำสั่งศาล/ชงแก้ กม.สวล.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2009 19:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า 76 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดต้องรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางที่ให้ชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยเชื่อว่าศาลจะมีการพิจารณาคดีค่อนข้างเร็ว

"เรายังประเมินได้ยาก ต้องรอคำวินิจฉัย เข้าใจว่าจะพิจารณาค่อนข้างเร็ว...โครงการที่ถูกร้องต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาล ส่วนอื่นๆ ก็ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนไป" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกกรณีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ)โดยเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ทันสมัยประชุมนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวใน มาตรา 46 ที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาผลกระทบการลงทุนของภาคเอกชน

"จะมีการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่จะถึง และจะนำร่าง(กฎหมาย)เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปจัดเตรียมแนวทางรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยอาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ มาตรา 46 ที่ได้แก้ไขแล้ว เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับการลงทุนในมาบตาพุด ไม่ให้การลงทุนชะลอตัว

ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้ามาดูแลโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)ควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งรับฟังความเห็นของประชาชนและองค์กรอิสระ ก่อนที่จะดำเนินโครงการลงทุนในมาบตาพุด

ส่วนการจัดตั้งกองทุนบรรเทาผลกระทบฯ วงเงิน 1 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือกัน โดยจะต้องรอฟังคำสั่งศาลก่อน ส่วนการประกาศรายชื่อโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ยังมีนักลงทุนที่มีความเข้าใจสับสน และรอดูความชัดเจนจากการแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่มีบางส่วนเข้าใจดีว่าเป็นคำสั่งของฝ่ายตุลาการ และเป็นปัญหาของข้อกฎหมาย ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุญาตให้ลงทุนไปแล้วนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยืนยันว่าโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการทำอีไอเอแล้ว ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยในขั้นตอนการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ