(เพิ่มเติม) CK ไม่ห่วงงานรัฐล่าช้ามี backlog 1.2 แสนลบ.ดันรายได้แกร่ง ปี57 อย่างน้อย 3 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 27, 2014 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ช.การช่าง(CK)เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามา ส่งผลให้งานก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐล่าช้าออกไป โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แต่บริษัทไม่รับผลกระทบเพราะขณะนี้งานในมือ(Backlog)ยังสูงมากที่ 1.2 แสนล้านบาท รองรับการสร้างรายได้ต่อเนื่อง 3-4 ปี หรือปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ปี 57 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากงานก่อสร้างอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่คาดมีรายได 3.2 หมื่นล้านบาท ประกอบกับ คาดว่าจะมี 2 โครงการมูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาทจะเซ็นสัญญารับงานในปีนี้ ได้แก่ โครงการเขื่อนน้ำบากที่มีมูลค่างานก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท ระหว่างนี้เจรจาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะเซ็นสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลสปป.ลาว รวมทั้งเซ็นสัญญาซื้อขายไฟและสัญญากู้เงินไม่น่าเกินครึ่งแรกปีนี้

ส่วนอีกโครงการเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กภายใต้ SPP 2 ของบางปะอิน มูลค่างานก่อสร้าง 5 พันล้านบาท คาดเซ็นสัญญาในไตรมาส 2/57 โดยทั้งสองโครงการนี้เป็นโครงการที่บริษัทในกลุ่ม CK เป็นผู้ลงทุน

บริษัทคาดว่าในปี 57 จะมีรายได้รวมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 56 คาดมีรายได้รวม 4.2 หมื่นล้านบาทเพราะมีการขายเงินลงทุน แต่สำหรับปีนี้จะมีเงินปันผลจากบริษัทย่อย ประมาณ 500-600 ล้านบาท และดอกเบี้ยรับ

"แม้ว่างานภาครัฐจะมีความล่าช้าเกิดขึ้น อาจยังไม่กระทบกับเราโดยตรงมากนัก รายได้ปีนี้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท จาก Backlog ที่ตกรายได้ปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาทใน 3-4 ปีนี้" นายวรพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ ในเดือนก.พ. 57 บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ มูลค่า 3 พันล้านบาท อายุ 4 ปีและ 5 ปี เสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ โดยจะออกมาทดแทนหุ้นกู้เดิ จำนวน 2 พันล้านบาท และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีก 1 พันล้านบาท

นายวรพจน์ กล่าวว่า Backlog ที่มีอยู่ 1.2 แสนล้านบาทนั้นมีสัดส่วนเป็นงานต่างประเทศราว 50% ได้แก่ งานฝายน้ำล้นไซยะบุรี ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีจนถึงปี 60 ส่วนงานในประเทศมีสัดส่วน 50% ส่วนใหญ่เป็นงานโครงการถไฟฟ้า ได้แก่ โครงการสายสีน้ำเงิน 2 สัญญา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง 2 สัญญา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 2 สัญญา

สำหรับปี 57 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยมีทั้งหมด 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 เป็งานโยธา ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11 กม. มูลค่า 14,021 ล้านบาท สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธา ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 6.8 กม. มูลค่า 6,125 ล้านบาท สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอาคารจอด มูลค่า 3,700 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 เป็นงานวางรางทั้งเส้น มูลค่า 2,600 ล้านบาท

นายวรพจน์ กล่าวว่า บริษัทจะยื่นเอกสารประกวดราคาทั้ง 4 สัญญา ในรอบนี้มีเอกชน 31 รายเข้ามาซื้อซองประกวดราคากันมาก ทั้งนี้จะมีการยื่นซองราคาในเดือนเม.ย.นี้ และถึงจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ 2-3 เดือน

ขณะที่ รฟม.มีโครงการจะเปิดประกวดราคาปีนี้คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท และ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ต้องรอรัฐบาลใหม่เพราะยังไม่ผ่านอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี

นายวรพจน์ ยังกล่าวอีกว่า ในเดือน มี.ค.นี้ บริษัทและบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เป็นต้น จะเร่วมเดินทางไปกับตลาดหลักทรัพย์ ไปโรดโชว์ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจใน CK BECL TTW มากเป็นพิเศษ

และต่างก็เห็นว่าราคา CK ถูกมาก โดยมี P/E ไม่ถึง 10 เท่าจาก P/E ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มี 18 เท่า น่าจะเป็นจังหวะเก็บหุ้นเข้าพอร์ต ขณะนี้ราคาหุ้น CK อยู่ที่ 14.80 บาท ลดลง 0.20 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ