(เพิ่มเติม) RATCH เปิดฉากรุกขยายธุรกิจเหมือง-โรงไฟฟ้าถ่านหินในพม่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 24, 2014 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่าในสัปดาห์นี้บริษัทจะยื่นโครงการความเป็นไปได้ในการดำเนินโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงุทน 900 ล้านเหรียญหรือ 3 หมื่นล้านบาท พร้อมขอสำรวจพื้นที่เหมืองถ่านหินเพิ่ม นอกจากนั้น บริษัทยังเข้ารอบ 1 ใน 8 รายทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 เมกะวัตต์ในพม่า รอผลในเดือน มิ.ย.นี้

ภายในสัปดาห์นี้บริษัทจะยื่นโครงการความเป็นไปได้ในการดำเนินโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ต่อกระทรวงพลังงานของเมียนมาร์ (MOEP)ก่อนครบกำหนดภายใน 31 มี.ค.นี้ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ที่เมืองเชียงตุง และใกล้เหมืองถ่านหินที่คาดว่ามีปริมาณสำรองถ่านหินจำนวน 80-100 ล้านตัน เพียงพอต่อการทำโรงไฟฟ้าดังกล่าว

รวมทั้ง บริษัทจะขอสำรวจพื้นที่เหมืองถ่านหินจาก 2 ตร.ม.เป็น 200 ตร.ม. ซึ่งบริษัทมองว่าน่าจะมีปริมาณแหล่งถ่านหินมากพอสมควรที่คาดว่าจะสามารถทำโรงไฟฟ้าได้เพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 1,200 เมกะวัตต์ โดยถ่านหินในเหมืองนี้มีคุณภาพดีกว่าเหมืองแม่เมาะ คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 4-5 เดือน หากพบว่ามีปริมาณมากพอก็จะขอยื่นทำโรงไฟฟ้าเฟส 2 ขนาด 600 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับไทยประมาณ 90% ส่วนที่เหลือใช้ในพม่า แต่หากทางพม่าต้องการเพิ่มเติมก็ทำได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี

นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าร่วมประกวดราคาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 300 เกมะวัตต์ ที่มัณฑะเลย์ ในพม่า และบริษัทได้เข้ารอบ 1 ใน 8 ของผู้เข้าร่วมประกวดราคา 19 บริษัท ซึ่งอันดับหนึ่งคือ สุมิโตโมจากญี่ป่น, RATCH เข้าเป็นอันดับ 2 รวมทั้ง บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) และ บริษัท อมตะ เพาเวอร์ จำกัดจากไทยก็เข้ารอบเช่นกัน โดยโครงการนี้มีสัญญาซื้อขาย (PPA) ระยะเวลา 25 ปี ซึ่งโครงการนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลก ทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก หลังจากนี้จะเสนอเงื่อนไขทางการเงินแข่งขันกัน และคาดว่าจะรู้ผลไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้

"คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน มิ.ย. บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือก โครงการนี้บริษ้ทร่วมกับ Golden Green Energy (GGE) ที่เป็นพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งเราถือ 60% GGE ถือ 40%" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว และเสริมว่า โครงการนี้รัฐบาลพม่าต้องการให้ดำเนินการเร็วที่สุดโดยคาดว่าจะเร่งให้เสร็จก่อนสิ้นปี 58 ในยูนิตแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ และอีก 2 ยูนิตใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี

นายพงษ์ดิษฐ ยังกล่าวว่า พม่ายังมีโครงการผลิตไฟฟ้าอีก 2-3 โครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าก๊าซขนาด 50 เมกะวัตต์ที่เมืองย่างกุ้งซึ่งโรงนี้เดินเครื่องแล้วมา 6 เดือน แต่บริษัทต่างชาติที่ทำอยู่ต้องการขายหุ้นให้ RATCH ขณะนี้อยู่ระหว่างทำ Due diligence คาดว่าจะเสร็จในปลายเดือนเม.ย. 57

อย่างไรก็ตาม หาก RATCH ได้มีโอกาสเข้าทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็จะดึงบริษัทของ กฟผ. เข้าร่วมทุน ทั้งนี้ เงินลงทุนในการดำเนินการโรงไฟฟ้าในพม่าไม่ใช่ปัญหาของบริษัท เพราะบริษัทยังมีความสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น และยังมี กฟผ.ซึ่งเป็นบริษัทแม่เข้ามาร่วมทุนอีก

"เราฝันเป็นเอกชนไทยรายแรกทำโรงไฟฟ้าในพม่ารายแรก เราอยากปักธงที่พม่า"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

นอกจากนี้ RATCH ยังได้แสวงหาโอกาสในประเทศอื่น โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับบมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้(CHOW) ในสัดส่วน 40% ส่วน RATCH ถือ 60% เข้าร่วมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น จำนวน 110-120 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกจะดำเนินการ 30 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.6 หพันล้านบาท ซึ่งระหว่างนี้กำลังสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อความแน่นอนของโครงการ คาดว่าจะสรุปเรื่องนี้ในเดือน เม.ย.นี้ และมีแผนจะจดทะเบียนบริษัทขึ้นในประเทศสิงคโปร์และญี่ป่น ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 20 ปี ค่าไฟได้ยูนิตละ 13 บาทคุ้มค่ากับการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ