(เพิ่มเติม) THAI เผย Q1/57 ขาดทุนสูงกว่าคาดรับ cabin factor ร่วง เร่งปรับกลยุทธ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2014 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) ระบุว่าผลประกอบการไตรมาส 1/57 น่าจะขาดทุนมากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงไปมาก โดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งในไตรมาสแรกนี้อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(cabin factor)ลดลงมาที่ 71.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 79.8%

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ THAI คาดว่า ไตรมาสที่ 1/57 ขาดทุนมากกว่าที่เคยประมาณการไว้ในระดับ 30 ล้านบาท เนื่องจากนักทองเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีลดลงอย่างมาก จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อแม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางส่วนของปริมณฑลแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/57 บริษัท cabin factor ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลง 25.8% นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นลดลง 8% และนักท่องเที่ยวจากเกาหลีลดลง 17%

"ไตรมาส 1 นี้เราคาดว่าขาดทุน ปิดบัญชีขาดทุนมากกว่าประมาณการ 30 ล้านบาท...เหตุที่เป็นอย่างนี้นักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีลดลง เพราะความไม่สงบทางการเมือง แม้จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สภาพยังฟื้นตัวไม่มาก และการตลาด คู่แข่งมีมากขึ้นแย่งผู้โดยสารกัน"นายโชคชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าเร็วๆนี้ ปัญหาหลายด้านจะคลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวพื้นตัวได้เร็วขึ้นหรือกลับมาได้เร็วมาก ทิศทางจะเป็นบวกขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ได้เห็นยอดจองตั๋วในเดือน เม.ย.57 ดีขึ้นกว่าเดือนมี.ค.57 เพราะมีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์มากระตุ้นการเดินทาง แต่ในเดือน พ.ค.อาจจะลดลงเพราะเป็นช่วงนอกฤดูกาล แต่ก็คาดว่าภาพรวมไตรมาส 2/57 น่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 2/56

ทั้งนี้ THAI แถลงวาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่งประจำเดือนมี.ค.57 ซึ่งในเดือนนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากการชุมนุม ถึงแม้จะมีประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร

บริษัทมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) รวมทั้งระบบรวมการบินไทยสมายล์ ลดลงจากปีก่อน 4.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ต่ำกว่าปีก่อน 18.4% ส่งผลให้ cabin factor รวมทั้งระบบ เฉลี่ย 68.7% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 80.3% โดยลดลงในเส้นทางภูมิภาคจาก 81.9% ในปีก่อนเป็น 68.3% เส้นทางระหว่างประเทศลดลงจาก 79.1% เป็น 69.0% และเส้นทางบินในประเทศลดลงจาก 79.9% เป็น 68.9% สำหรับ การบินไทยสมายล์ มี cabin factor เฉลี่ย 69.0% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 64.9% และเที่ยวบินภายในประเทศ 71.5% จำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งในเดือนนี้รวมทั้งสิ้น 1.59 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 20.5%

ด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ มีปริมาณการผลิตด้านสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ลดลงจากปีก่อน 7.5% ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(RFTK) ลดลง 1.7% ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) โดยรวมทั้งใต้ท้องเครื่องบิน (Belly) และเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) เฉลี่ย 58.0% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 54.7%

นายโชคชัย กล่าวว่า กลยุทธ์ต่อจากนี้บริษัทจะปรับมามุ่งหันไปเน้นขายตั๋วตลาดนักท่องเที่ยวที่ต่อเครื่องไปอีกประเทศหนึ่ง (network) ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ดูไบ เป็นต้น โดยที่ผ่านมากการบินไทยจะเดินทางเป็นแบบ point to point โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นกรุงเทพ บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนขายตั๋วแบบ network เป็น 30% จาก 26-27% ในปัจจุบัน ขณะที่การขายตั๋วแบบต่อเครื่องที่มีไทยเป็นจุดหมายปลายทางกว่า 70%

พร้อมทั้ง เน้นกลยุทธ์ระหว่างกลุ่มการบินไทยคือสายการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินนกแอร์ ที่ทั้ง 3 สายการบินมีการวาง position การแข่งขันชัดเจน รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนราคาตามสภาพตลาด (Dynamic Pricing) และปรับปรุงองค์กร การตลาด บุคคลากร ทั้งนี้ปลายเดือน เม.ย.นี้คณะกรรมการบริษัทจะจัด Workshop ปรับปรุงกลยุทธ์บริษัท

"ปีที่แล้วการบินไทยขาดทุน ปีนี้ก็จะเป็นอีกปีที่การบินไทยเจอ Crisis ในปี 2013-2014 การบินไทยเผชิญการแข่งขันมาก มีการสั่งซื้อเครื่องบินกว่า 1 พันลำต่อปี"นายโชคชัย กล่าว

ในปีนี้บริษัทเปิดขายเครื่องบินปลดระวาง จำนวน 17-20 ลำ ซึ่งได้นำเสนอผ่านเว็บไซด์และมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาแล้ว โดยขณะนี้เป็นช่วงการเปิดขายเครื่องบินแอร์บัสเอ300-600 จำนวน 4 ลำ คาดว่าเครื่องบินเก่าจะขายได้ประมาณ 3-4 ล้านเหรียญต่อลำ และในปีนี้บริษัทจะรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามา 12 ลำ แต่มีการปลดระวางมากกว่าทำให้ผลิตภัณฑ์ที่นั่ง(production) ลดลง 3-4% จากปีก่อน ส่วนปีหน้าคาดว่า production เพิ่มขึ้น 5-6% และรายได้น่าจะเติบโต 5-6% ตาม production

นายโชคชัย กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจรอบใหม่ในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นหน่วยงานใด จำนวนเท่าใด สิทธิดังกล่าวจะให้แก่พนักงานแบบใดบ้างหรือเฉพาะเจาะจง เพื่อให้กรอบชัดเจนมากขึ้น ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาในเดือน พ.ค.57 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ