RS มอบอำนาจ"ทีซีซี"จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์บอลโลก ยกเว้นแผงลอย-ร้านค้าย่อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 22, 2014 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปราม บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด(ทีซีซี)ในเครืออาร์เอส เปิดเผยว่า บริษัทได้รับมอบอำนาจและแต่งตั้งจาก บมจ.อาร์เอส(RS) ในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 20 หรือ 2014 FIFA WORLD CUP BRASIL ณ ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค.57 อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าจะมีร้านค้าสนใจติดต่อขอลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันในครั้งนี้ 10,000 รายสูงกว่าบอลโลกครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ทำให้ยินดีให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องด้วยสหพันธ์สมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ได้ให้ความสำคัญในงานแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดในครั้งนี้ โดยจัดให้มีผู้แทนจาก FIFA เข้าร่วมสังเกตการณ์ในประเทศไทย ดังนั้น หากองค์กรธุรกิจ หน่วยงาน หรือสถานประกอบการใดๆ ร้านอาหารสวนอาหาร ศูนย์จำหน่ายอาหาร ร้านคาราโอเกะ ภัตตาคาร เธค ผับ บาร์เบียร์ โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ ศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า คลับเฮาส์ และบริเวณสถานที่กลางแจ้งของร้านอาหาร สวนอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม ได้นำงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวออกไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าในรูปแบบการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมใดๆ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ควรดำเนินการปรึกษาบริษัทก่อนดำเนินการ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล ขั้นตอน วิธีการนำงานลิขสิทธิ์ไปใช้และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวกับร้านค้ารายย่อย อาทิเช่น ร้านข้าวต้ม ร้านส้มตำลาบน้ำตกริมทาง ร้านก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารตามสั่งข้างถนน เป็นต้น

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของสถานประกอบการเคเบิ้ลทั่วประเทศและเว็บไซด์ ทางทีซีซีไม่อนุญาตให้นำผลงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการแข่งขันดังกล่าว นำออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเด็ดขาด มิฉะนั้นหากมีการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทฯ อาจมีความผิด และในส่วนกรณีที่ไม่ต้องดำเนินการขออนุญาตลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพในการใช้สิทธิ (Home Used) เป็นการชมเพื่อความบันเทิงในครอบครับที่อยู่อาศัย เป็นต้น

“เรามีความพร้อมทางด้านทีมทนายความและทีมดูแลเฉพาะกิจจำนวนกว่า 300 คน กระจายลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ และผู้ละเมิดผลงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ด้วยราคาค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันตามแต่ละกรณีโดยเฉลี่ยเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 30,000 บาท และหากผู้ประกอบการร้านค้าทำการขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการแสดงหนังสือไว้ในที่เปิดเผย และง่ายต่อการตรวจสอบของทีมทนายความและทีมปราบปรามร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้การตรวจสอบไปทำการรบกวนเวลาชม หรือรับประทานอาหารของลูกค้าในสถานประกอบการของท่าน"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ