บอร์ดรฟม.ไฟเขียวเจรจา BMCL เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ไม่ต้องประมูล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 18, 2014 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.วานนี้ว่า ที่ประชุมได้เลือกให้นายชูศักดิ์ เกวี เป็นประธานที่ประชุมในครั้งนี้ โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบตามที่รฟม.เสนอให้ใช้แนวทางการเจรจากับบมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร เพราะจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเปิดประกวดราคาใหม่

เนื่องจากปัจจุบัน BMCL เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเชื่อมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอยู่แล้ว

ดังนั้นการมีผู้เดินรถรายเดียวกันจะทำให้ประหยัดต้นทุนในหลายด้านคือ 1. ค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPPO) ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่บางแค จะลดลงเบื้องต้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะจะปรับเป็นเพียงลานจอดพร้อมระบบการบำรุงรักษาเท่านั้น โดยสามารถใช้ศูนย์ซ่อมที่ห้วยขวางร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคลได้ 2. ค่าการบริหารการเดินรถลดลง และการบริหารจะง่ายกว่ามีผู้เดินรถ 2 ราย 3. ประชาชนสะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนรถ เนื่องจากรถสามารถวิ่งทะลุต่อกันได้ทั้ง 2 โครงการ และ 4.เจรจาจะใช้เวลาน้อยกว่าการประมูลประมาณ 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับกำหนดการเปิดเดินรถในปี 2560

โดยหลังจากนี้ จะเสนอรูปแบบการเจรจากับ BMCL ที่บอร์ดเห็นชอบแล้ว ไปที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม.เป็นประธาน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบ หากคณะกรรมการมาตรา 13 เห็นชอบจะต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะสามารถเริ่มต้นเจรจากับ BMCLได้ แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบจะต้องใช้รูปแบบการประมูลตามเดิม คือ เปิดประมูลรูปแบบ PPP-GC (รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจ้างเดินรถ) เหมือนสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เดิม

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า หากได้รับความเห็นชอบให้ใช้รูปแบบเจรจากับ BMCL ในส่วนของรฟม.จะต้องเจรจากับบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาในสัญญาที่ 4 โครงการก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย วงเงิน 13,380 ล้านบาท (ก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร มีความสูงด้านบนของรางที่ประมาณ 22 เมตร ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดรถ 2 อาคารที่บริเวณถนนเพชรเกษม 47 และถนนเพชรเกษม 80 และมีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณถนนเพชรเกษม 48 ) เพื่อปรับลดเนื้องานในส่วนของเดปโป้ ลง ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเนื่องจากในสัญญาก่อสร้างนั้นรฟม.มีสิทธิ์ ปรับรายละเอยด หรือตัดเนื้องานก่อสร้างได้

“เรื่องเจรจากับ BMCLยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชน เพราะก่อนหน้านี้ได้มีผลการศึกษาว่ารูปแบบการให้เอกชนรายเดียวเดินรถสายสีน้ำเงินทั้งส่วนใต้ดินและต่อขยายจะเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เพราะมีมติว่าให้ใช้วิธีประมูลแบบ PPP ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการมาตรา 13 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ก็ค่อนข้างมีปัญหา เพราะจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไรในการประมูลเพื่อไม่ให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบ ส่วนการเจรจานั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากหลายหน่วยงาน และจะใช้ข้อมูลจากสายสีม่วงเป็นฐานในการเจรจาเพราะเป็นรูปแบบเดียวกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องประมูลหรือถ้าเห็นด้วย แต่เจรจาแล้วผลไม่น่าพอใจก็กลับมาเปิดประมูล"ผู้ว่า รฟม.กล่าว

สำหรับค่างานระบบและรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มีมูลค่า 22,141 ล้านบาท หากรวมกับค่าบริหารการเดินรถตลอดอายุสัญญา 25 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยหคาดว่าปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในปีที่เปิดให้บริการจะมีประมาณ 200,000 คนต่อวัน ส่วนผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมีปริมาณผู้โดยสาร 300,000 คนต่อวัน

ส่วนการเดินรถสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เบื้องต้นบอร์ดเห็นชอให้รฟม.เป็นจัดซื้อระบบและรถไฟฟ้าเองส่วนการเดินรถจะพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะให้บริษัทลูกรฟม.หรือจ้างเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ