PTTEP เผยกำไร Q2/57 โต 55% ตามปริมาณขายเฉลี่ย-ราคาเพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 24, 2014 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/57 มีกำไรสุทธิก่อนสอบทานรวม 560 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 18,187 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 198 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิไตรมาส 2/56 จำนวน 362 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 10,686 ล้านบาท) โดยประกอบด้วย กำไรจากการดำเนินงานตามปกติจำนวน 537 ล้านดอลลาร์ สรอ. และกำไรจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ (Non-Recurring) จำนวน 23 ล้านดอลลาร์ สรอ.

รายได้รวมไตรมาสนี้ มีจำนวน 2,107 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 68,352 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/56 จำนวน 1,851 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 55,326 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 256 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นร้อยละ 14 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 315,810 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ 292,721 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากแหล่งมอนทารา โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการสินภูฮ่อม โครงการซอติก้า และโครงการนาทูน่า ซี เอ

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เป็นเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นเป็น 67.70 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยของไตรมาส 2/56 ที่ 65.16 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

“สำหรับปีนี้ ปตท.สผ. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณขายเป็นประมาณ 320,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 10% จากปีที่แล้ว โดยสัดส่วนของปริมาณการขายจะมาจากการดำเนินงานในประเทศ 75% และในต่างประเทศ 25%" นายเทวินทร์ กล่าว

ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนธุรกิจของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 2/57 ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 43 โครงการใน 11 ประเทศ ดังนี้ โครงการในประเทศไทย 18 โครงการ มีปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 245,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณการขายทั้งหมด ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเข้าซื้อบริษัทย่อยของ Hess Corporation ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย โครงการคอนแทร็ค 4 ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ในสัดส่วนร้อยละ 15 และโครงการสินภูฮ่อมตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสัดส่วนร้อยละ 35

โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจในไตรมาสนี้ คือ โครงการ B6/27 ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ NKW-N01 ซึ่งไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลที่ได้จากการเจาะหลุมสำรวจดังกล่าวจะนำไปใช้ประโยชน์ทางธรณีวิทยาต่อไป

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 15 โครงการ ในประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 45,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการขายทั้งหมด ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการผลิตเต็มไตรมาสของโครงการยาดานาและโครงการเยตากุน นอกจากนี้ โครงการซอติก้า ได้ส่งก๊าซธรรมชาติให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อใช้ภายในประเทศเมียนมาร์ด้วยปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 55 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับก๊าซธรรมชาติที่จะส่งขายให้ ปตท. เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มส่งก๊าซฯ ในอัตรา 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในไตรมาส 3/57 นอกจากนี้ โครงการซอติก้าอยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น รวมถึงเตรียมงานเจาะหลุมประเมินผล จำนวน 10 หลุม ภายในปี 57-58 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและรักษาการผลิตในระยะยาว

และ โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เช่น โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 3 อยู่ระหว่างเตรียมงานเจาะหลุมสำรวจ และหลุมประเมินผลเพิ่มเติมจำนวน 6 หลุม โครงการเมียนมาร์ พีเอสซี จี และอีพี 2 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาและเตรียมงานเจาะหลุมสำรวจ จำนวน 4 หลุม

โครงการในออสตราเลเซียมี 1 โครงการ คือ โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ในประเทศออสเตรเลีย โดยประกอบด้วย 16 แปลงสัมปทาน สำหรับแหล่งที่ดำเนินการผลิตแล้ว คือ แหล่งมอนทารา มีปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 6 ของปริมาณการขายทั้งหมดของ ปตท.สผ. ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบที่ประมาณ 25,000 บาร์เรลต่อวัน

แหล่งที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เช่น แปลงสัมปทาน AC/P4 เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ Dillon South-1 แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งตัดจำหน่ายหลุมในไตรมาส 2 นี้ สำหรับแหล่ง Cash Maple ได้เริ่มการเจาะหลุมสำรวจ Maple-East เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โครงการในทวีปอเมริกามี 2 โครงการ ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา และบราซิล ทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการสำรวจ โดย โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี เสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้ใน Partnership Units Redemption Agreement (PURA) ร่วมกับบริษัท Statoil Canada Limited (SCL) ส่งผลให้ PTTEPCA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนร้อยละ 100 และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่ง Thornbury, Hangingstone และ South Leismer พร้อมทั้งได้รับเงินสดประมาณ 419 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ บริษัทได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปตท.สผ. เข้าร่วมทุนใน โครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 ในสัดส่วนร้อยละ 25 ซึ่งประกอบด้วยแปลงสำรวจ BAR-M-215 BAR-M-217 BAR-M-252 และ BAR-M-254 ในประเทศบราซิล โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลบราซิล

โครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลางมีทั้งหมด 7 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศโอมาน แอลจีเรีย โมซัมบิก และเคนยา สำหรับโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว คือ โครงการโอมาน 44 มีปริมาณการขายเฉลี่ย 6,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 2 ของปริมาณการขายทั้งหมด และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี อยู่ระหว่างการก่อสร้างกระบวนการผลิต และระบบท่อขนส่ง โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตน้ำมันดิบได้ภายในปี 57 ด้วยกำลังการผลิต 20,000 บาร์เรลต่อวัน

ด้านโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เช่น โครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีแผนการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลทั้งสิ้น 8 หลุม เพื่อค้นหาและประเมินศักยภาพเพิ่มเติม ซึ่งในไตรมาสนี้โครงการเสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม คือ หลุม Tubarao Tigre-1 ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะและค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ส่วนการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาทางวิศวกรรมพื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกในปลายปี 61 หรือปี 62 โครงการเคนยา แปลงแอล 10 เอ เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม คือ หลุม Sunbird-1 แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะตัดจำหน่ายหลุมในไตรมาส 3 ผลที่ได้จากการเจาะหลุมสำรวจดังกล่าวจะนำไปใช้ประโยชน์ทางธรณีวิทยาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ