(เพิ่มเติม) QTC จับมือ"ฮิตาชิ เมทัลส์"ผลิตหม้อแปลง Amorphous เจาะตลาดไทย/เชื่อกำไรปีนี้โตแน่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 2, 2014 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท ฮิตาชิ เมทัลส์ จำกัด เพื่อร่วมมือพัฒนาหม้อแปลงไฟฟ้าอะมอฟัส(Amorphous) ให้สามารถผลิตและขายได้ในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนการตลาด พร้อมกำหนดกลยุทธ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงกำหนดยอดขายร่วมกัน

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากยอดขายและกำไรของบริษัทฯที่จะเพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว การผลิตหม้อแปลง Amorphous ยังช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนนี้เป็นไปตามนโยบายด้าน CSR ในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย โดยทางฮิตาชิจะสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตหม้อแปลง Amorphous รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ และกระบวนการผลิตให้กับบริษัทฯ

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทได้ศึกษาและพัฒนาหม้อแปลง Amorphous ร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เมทัลส์ จำกัด ตั้งแต่ปี 55 จนปัจจุบันสามารถทดลองผลิตหม้อแปลงขนาด 50 KVA ตามมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 2 เครื่อง และขนาด 150 KVA ตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) จำนวน 2 เครื่อง นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการผลิตและส่งมอบหม้อแปลงขนาด 500 KVA และ 1,000 KVA ให้กับบริษัทเอกชนในไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหม้อแปลง Amorphous ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย แต่หม้อแปลงชนิดนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบ Amorphous มาทำแกนแทนเหล็กซิลิกอนจะมีค่าความสูญเสียกำลังไฟฟ้าไม่มีโหลด (No Load Loss) ต่ำ โดยมีค่าความสูญเสียกำลังไฟฟ้าไม่มีโหลดเพียง 1 ใน 3 ของเหล็กซิลิกอน ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าลงได้

นายพูนพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า QTC ตั้งเป้ารายได้และกำไรสุทธิปี 57 สูงกว่าปี 56 ที่มีรายได้ราว 800 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 74 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้รายได้จะแตะ 1,000 ล้านบาท แม้ปีครึ่งแรกมีผลขาดทุนสุทธิ หลังจากทำรายได้แค่ 266 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไม่นิ่งทำให้ภาครัฐและเอกชนชะลอรับมอบสินค้า ซึ่งสินค้ารอส่งมอบดังกล่าวเลื่อนมาส่งได้ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่บริษัทเตรียมจะส่งมอบให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่าไตรมาส 3/57 ผลประกอบการจะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จากไตรมาส 2/57 ขาดทุนกว่า 4 ล้านบาท และไตรมาส 4/57 ทั้งรายได้และกำไรจะทำจุดสูงสุดของปี ซึ่งเป็นปกติของธุรกิจ

บริษัทมีงานในมือ(backlog)กว่า 200 ล้านบาทที่จะรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีงานของ กฟภ.และ กฟน.ที่ประมูลได้และรอเซ็นสัญญาอีก 200-300 ล้านบาท ซึ่งจะพยายามส่งมอบให้ทันรับรู้รายได้ในปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังจะยื่นประมูลงานหม้อแปลงของ กฟภ.อีกรอบในปลายเดือน ก.ย.นี้ ราว 1,500 ล้านบาท หวังได้งานราว 200-300 ล้านบาทก็จะเป็นส่วนเพิ่มใน backlog ขึ้นมาด้วย

นายพูนพิพัฒน์ กล่าวว่า จะเห็นว่าในครึ่งหลังของปีนี้งานที่ต้องส่งมอบและรับรู้รายได้จำนวนมาก ทำให้มั่นใจรายได้จะทำได้ตามเป้าหมาย และกำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอัตรากำไรสุทธิปีนี้จะสูงขึ้นมาที่ 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 9% เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นขณะที่ต้นทุนคงที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทสามารถดูแลต้นทุนได้ดี และหากได้งานของ กฟน.เข้ามาเพิ่มก็จะยิ่งช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไร

"ครึ่งแรกแม้รายได้ในประเทศลดลง แต่รายได้ต่างประเทศไม่ได้ลด แต่เพิ่มขึ้นซึ่งบริษัทได้งานออสเตรเลียเข้ามา ทำให้ปีนี้คาดสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศยังคงที่ 20% ได้ ปีนี้จะพยายามทำรายได้รวมไม่ต่ำกว่าปีก่อน เพราะตอนนี้รองานราชการ ขณะที่งานต่างประเทศเราเข้าเป้าแล้ว ไตรมาส 3-4 มีงานในประเทศที่รอส่งมอบซึ่งเลื่อนมาจากไตรมาส 2 หลายร้อยล้านบาท เพราะไตรมาส 2 ส่งมอบงานน้อยโดยเฉพาะงานในประเทศเพราะการเมืองไม่นิ่ง ไตรมาส 3 น่าจะส่งมอบเยอะและเยอะสุดในไตรมาส 4"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของ QTC มาจากงานภาครัฐ 35% เอกชน 40% และต่างประเทศ 20% อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังมีข้อกังวลอยู่บ้างเรื่องต้นทุนวัตถุดิบเหล็กซิลิกอนที่ราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ