ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 รายสร้างราคาหุ้น SLC ช่วงมี.ค.-เม.ย.53

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 9, 2014 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย ได้แก่ 1.นายฉาย บุนนาค 2.นายปฐมัน บูรณะสิน 3.นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ 4.นายมีศักดิ์ มากบำรุง 5.นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี 6.นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ 7.นายทรี บุญปราศภัย 8.นายพาวิตต์ นาถะพินธุ 9.นางสาวชนาธิป ตันติพูนธรรม 10.นางสาวศิริญา ดำรงวิถีธรรม และ 11.นายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์ บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) (SLC)

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้น SLC ที่ผิดปกติระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 29 เมษายน 2553 จึงตรวจสอบเชิงลึกพบพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น บัญชีข้อมูลการซื้อขายหุ้น SLC บัญชีแสดงการหมุนเวียนเงินภายในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งบัญชีกลาง บัญชีรายบุคคล บัญชีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับบุคคล 7 รายที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน ตลอดจนการให้ถ้อยคำยอมรับของผู้ต้องสงสัยบางรายเกี่ยวกับการควบคุมเงินและการสั่งการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่านายฉาย นายปฐมัน และนายสุพิชยะได้ตกลงรู้เห็นร่วมกันซื้อขายหุ้น SLC ในลักษณะสร้างราคาผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของบุคคล 9 ราย ได้แก่ นายปฐมัน นายสุพิชยะ นายมีศักดิ์ นายอภินันทกานต์ นายเทพฤทธิ์ นายทรี นายพาวิตต์ นางสาวชนาธิป และนางสาวศิริญา

พฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น SLC ของบุคคลกลุ่มนี้มีลักษณะสอดรับกันในด้านจังหวะเวลา การส่งคำสั่งด้านซื้อและขายในปริมาณมากที่หลายระดับราคาเพื่อครองตลาดและควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคา และทำราคาตลาดให้สูงขึ้นด้วยการส่งคำสั่งให้เกิดการซื้อขายระหว่างบัญชีของบุคคลในกลุ่ม อันเป็นการลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น SLC ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าซื้อขายตาม บัญชีซื้อขายของบุคคลทั้ง 9 รายข้างต้นก็ทยอยขายทำกำไร โดยมีนายไทช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การกระทำในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ