BGH ขยายเครือข่าย-ยกมาตรฐานพร้อมรับ AEC วอนรัฐผ่อนผันให้แพทย์ต่างชาติทำงานในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 17, 2014 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานบริหารกลุ่ม และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงพยาบาล BGH มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่มจะมีความพร้อมและมีมาตรฐานทางด้านบริการทางการแพทย์ทัดเทียมกับสหรัฐ หลังจากตั้งเป้าเพิ่มโรงพยาบาลเป็น 50 แห่ง ภายในปี 58 จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีโรงพยาบาลทั้งสิ้น 44 แห่ง และมีจำนวนเตียงผู้ป่วยเป็น 7,700 เตียง
"เมื่อบริษัทฯมีโรงพยาบาลที่มากขึ้นจะทำให้มีความสามารถในการดำเนินงานได้หลายอย่าง โดยบริษัทฯพยายามจะผลักดันให้ธุรกิจ NON Core business เช่น จำหน่ายกลุ่มโภคภัณฑ์ทางยา ยาเม็ด แคปซูล ยาน้ำ เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงแหล่งจัดจำหน่าย ซึ่งสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทฯอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต" นพ.ปราเสริฐ กล่าว

ขณะที่รายได้ปี 57 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 52,394 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกทำได้แล้วราว 27,000 ล้านบาท จากการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนผู้ป่วยที่เป็นคนไทยประมาณ 70% และเป็นชาวต่างชาติ 30% โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่าที่มาเข้ารับการรักษา

นพ.ปราเสริฐ กล่าวในงานประชุมวิชาการร่วมบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ประจำปี 2557 "Get healthy Get Ready for ASEAN Community" ภายใต้หัวข้อ ประเทศไทย ศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ ว่า ปัจจัยที่จะเข้ามาเกื้อหนุนให้ประเทศไทยกับการเป็น Inter Medial Hub คือ การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ, ความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน, ศักยภาพและการเติบโตของธุรกิจบริการสุขภาพ, ความพร้อมของผู้ประกอบการและบุคคลากรทางการเพทย์, ความเชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพกับบริการในสาขาอื่นๆ, ปรับปรุงหนังสือรับรองการเดินทาง (VISA) สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามที่เป็นต่างชาติ และผ่อนผันให้แพทย์ต่างชาติที่มีความสามารถให้ทำงานในประเทศไทยได้

ทั้งนี้ มองว่าการเป็นโรงพยาบาลที่ดีต้องมีแพทย์ที่มีศักยภาพ และมีวิชาความรู้ที่ต้องเฉลี่ยไปทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน มีการใช้บุคคลากรร่วมกันได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการแพทย์ที่ถูกลง โดยประเด็นดังกล่าวต้องมาทบทวนกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะใช้ ทั้งเครื่องมือ บุคคลากร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Utilization)

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยจะยังต้องมีการเตรียมความพร้อมอีกมาก อาจจะอีกอย่างน้อย 8 ปี เพื่อให้โรงพยบาลต่างๆมีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เนื่องด้วยยังต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถบุคคลากรการแพทย์ โดยเฉพาะเภสัชกร และแพทย์

"เวลานี้เราต้องยอมรับว่าวิชาความรู้ด้านการแพทย์ของสหรัฐฯดีที่สุด ในยุโรปก็ดี ซึ่งก็เป็นที่น่าเชื่อถือ ฉะนั้นผมมองว่า หากภาครัฐใจกว้าง หรือแพทยสภา ควรจะเข้ามาส่งเสริมด้านนี้อย่างยิ่งจังเพื่อยกระดับความรู้ด้านการแพทย์ให้เท่าเทียมกันกับทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้หมอที่สหรัฐฯ ยุโรป ได้เข้ามาทำการรักษาในเมืองไทยบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ประหยัดดีกว่าที่จะให้หมอต่างชาติเข้ามาต้องมาสอบใบประกอบโรคศิลป์ ภาษาไทย และเราจะได้หาความรู้จากเขาด้วย"นพ.ปราเสริฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ