(เพิ่มเติม) BBL คาดสินเชื่อในจีนรับผลดี หลังจีนเพิ่มสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 26, 2014 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศจีน โดยเฉพาะทางด้านภาคตะวันตกของประเทศจีนที่มีศักยภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนหรือคิดเป็น 70% ของประเทศจีน มีมณฑลต่างๆมากมาย และมีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่กระจายอยู่ใหนหลายๆพื้นที่

โดยหัวเมืองที่นับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านตะวันตกของจีน คือ ฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกกลางของประเทศจีน จัดเป็น 1 ใน 4 เมืองที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นมหานครของประเทศจีน โดย 3 เมืองที่เป็นมหานครของประเทศจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซียงไฮ้ และเทียนจิน ฉงชิ่งจัดเป็นมหานครเดียวที่ไม่ติดชายฝั่งทะเล และยังเป็นมหานครที่มีขนาดของพื้นที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 มหานคร โดยมีพื้นที่รวม 82,000 ตารากิโลเมตร และมีจำนวนประชากรมากถึงเกือบ 30 ล้านคน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.9% ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆครอบคลุมและเข้าสู่ช่องทางการค้าใหม่ๆ และเป็นประตูที่นำไปสู่จีนตอนใต้

"ฉงชิ่งมีความน่าสนใจมากที่เข้าไปลงทุน เพราะเขามีทรัพยากรอยู่มาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ประกอบกับรัฐบาลจีนได้มีการผลักดันให้เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ การลงทุนในฉงชิ่งที่น่าสนใจจะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และสินค้าเกษตร แต่การเข้าไปลงทุนต้องเข้าใจบริบทของตลาดประเทศจีน กฏเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการหาพาร์ทเนอร์ที่ดี"นายไชยฤทธิ์ กล่าว

สำหรับธนาคารกรุงเทพประเทศจีนได้มีการเปิดสาขาที่ฉงชิ่ง ซึ่งเป็นสาขาที่ 5 ในประเทศจีน ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีสาขาที่เปิดไปแล้วในประเทศจีนก่อนหน้า 4 สาขา ได้แก่ เซิ่นเจิ้น เซียงไฮ้ เซี๊ยะเหมิน และปักกิ่ง โดยสำหรับสาขาในฉงชิ่งของธนาคารกรุงเทพได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเก่าของธนาคารในประเทศจีนและนักลงทุนในประเทศไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในฉงชิ่ง โดยคาดว่าในปี 58 สาขาฉงชิ่งจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนทางด้านสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในประเทศจีนยังมีการเติบโตขึ้นทุกปี จากการเติบโตขึ้นของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้สำหรับการลงทุนในประเทศจีน อย่างเช่น ลูกค้าเก่าในประเทศจีน ลูกค้าจากไต้หวัน และลูกค้าจากไทย นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพยังมีการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆไปตามมณฑลต่างๆใกล้เคียง ทั้งนี้การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในประเทศจีนจะมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจในประเทศจีนที่รัฐบาลมีการบริหารงานเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตของจีนในปีนี้จะอยู่ที่ 7.5% และคาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าอัตราการเติบโตของจีนจะอยู่ในช่วง 7-8%

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพเชื่อว่าการที่รัฐบาลจีนมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลให้มีการทำกิจกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ให้บริการทางการเงินตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามธนาคารก็ยังไม่เร่งรัดปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ามากเกินไป การปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปตามความเหมาะสม โดยธนาคารจะเน้นการหาแหล่งการจัดหาวัตถุดิบให้แก่ลูกค้าของธนาคาร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าของธนาคารในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลูกค้าให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายสารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บมจ. เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ประเทศจีนได้กำลังปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาการส่งออกเป็นการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบทบาทของผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก ภาครัฐ และเอกชน อย่างไรก็ตามจีนยังคงยุทธศาสตร์การเป็นประเทศค้าขายรายใหญ่ที่สุดในโลกและส่งเสริมการลงทุนของจีนในต่างประเทศและการลงทุนต่างชาติในจีน

ทั้งนี้ จากการปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนทำให้ภาคตะวันตกของจีนได้รับอานิสงส์ยุทธศาสตร์จากจีนจากการเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งภาคคะวันตกของจีนมีแรงงานมากที่สุด และจีนได้มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นเรื่องพลังงานการขนส่ง

นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน คือ ธุรกิจการค้าขายบนอินเตอร์เน๊ต (E-commerce) ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นการขยายขอบเขตการค้า และเป็นเวทีให้ผู้ประอบการ โดยเฉพาะ SMEs เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศรอบๆ โดยบริษัทที่ทำธุรกิจ E-commerce ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในจีน คือ อาลีบาบา ซึ่งประสบความสำเร็จจากการระดมทุนกว่า 2.3 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้

ในด้านการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับจีนตอนใต้ เริ่มเห็นความสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการเปิดสะพานที่ 4 ที่เชียงของ จากลาวมาสู่ฝั่งไทย และจากการมีการติดต่อทางการค้าบนแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีโครงการเชื่อมโยงทางรถไฟความเร็วสูง

"เราต้องตระหนักต่อการพัฒนายุทธศาสตร์ของจีนและแผนการขยายบทบาทถาคตะวันตกจีนภายใต้แผน "Look South" ซึ่งจะมีผลกระทบที่จะมีต่ออาเซียนและไทย โดยอาจพิจารณาแผนรับมือโดยการอาศัยความร่วมมือกันในอนุภาค GMS ภายใต้ยุทธวิธีสานประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน"นายสารสิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ