(เพิ่มเติม) บลจ.ทหารไทย คาดสิ้นปี 57 AUM แตะ 2 แสนลบ.จาก 1.6 แสนลบ.สิ้นปี 56

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 20, 2014 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.ทหารไทย คาดว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM)สิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะ 2 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 56 อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงจากนี้จะมีการออกกองทุนใหม่เพิ่มอีก 2 กอง ขณะที่มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้มีโอกาสฟื้นกลับไปแตะระดับ 1,600 จุด เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนจากองทุน LTF และ RMF เข้ามาหนุน แต่ตลาดยังมีความผันผวน จึงแนะนำให้เน้นการลงทุนระยะ 5-7 ปีในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนมั่นคง

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย (TMBAM) เปิดเผยว่า ล่าสุด บลจ.ทหารไทย ได้มีการเปิดเสนอขายกองทุนใหม่ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย Asian Growth Leader Trigger 8 ซึ่งเป็นกองทุนแบบทริกเกอร์ มีเป้าหมายผลตอบแทน 8% ใน 1 ปี และกองทุนเปิดทหารไทย Asian Growth Leader ซึ่งจะเน้นลงทุนหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4 พันล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นลงทุนในญี่ปุ่นเพราะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยจะนำเงินเข้าไปลงทุนในกองทุนหลักคือ BGF Asian Growth Leaders Fund ที่มีการบริหารโดย BlackRock ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนมืออาชีพที่มีพอร์ตกองทุนภายใต้บริหารงานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีกำหนดเปิดจองวันที่ 20-29 ต.ค.นี้

นอกจากนี้มองภาพการลงทุนในภูมิภาคเอเชียถือว่าน่าลงทุน จะเห็นได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน นำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทได้มากขึ้น,การลดภาษีให้กับ SME ,มีการลงทุนสร้างทางรถไฟเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและพัฒนาประเทศในระยะยาว ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจราว 41 ล้านล้านวอน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและส่งเสริมการจ้างงาน และการลงทุน

ส่วนประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เน้นและเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านระบบคมนาคมขนส่ง ชลประทาน สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งมาตรการปฏิรูปทางสังคม การต่อต้านคอร์รัปชั่นก็มีการดำเนินการอย่างจริงจังในหลายๆประเทศ ขณะที่ปัจจัยนอกภูมิภาค การที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อระเทศในเอเชียในฐานะคู่ค้าส่งออกที่สำคัญ โดยพบว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ได้เริ่มกลับมาที่เอเชียมากขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ด้านมุมมองของ Valuation หรือมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยพิจารณาจากดัชนี MSCI AC Asia Ex. Japan นั้น ทั้งระดับราคาเมื่อเทียบกับผลประกอบการ และราคาเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีซึ่งสะท้อนได้จากดัชนี Forward P/E ปี 2015 ที่ 10.89 เท่า หรือ P/B ที่ 1.42 เท่าและด้านโครงสร้างการเงินซึ่งสะท้อนจากดัชนีหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 0.94 เท่า ถือได้ว่าทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในช่วงเวลานี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ