ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ลบ.KKP ที่ระดับ “A-/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 28, 2014 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive" หรือ “บวก"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำเร็จในการสร้างความหลากหลายของธุรกิจภายหลังการรวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) กลายเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (กลุ่มเกียรตินาคินภัทร) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงเงินกองทุนในระดับสูง รวมทั้งความเชี่ยวชาญของผู้บริหารในธุรกิจหลักของธนาคารอันได้แก่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และธุรกิจตลาดทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดเล็ก รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูง และคุณภาพของสินเชื่อที่ถดถอยลง นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยยังอาจจำกัดการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้อีกด้วย

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะได้ประโยชน์จากการรวมกิจการและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องพร้อมกับรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร อีกทั้งยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่เกินกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้จากความเสี่ยงในอนาคต

ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็ก มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 10 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 16 แห่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.9% และเงินรับฝากที่ 1.5% กลุ่มเกียรตินาคินภัทรสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยกลุ่มได้มีการปรับโครงสร้างภายหลังการรวมกิจการ ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุน การรวมกิจการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนได้อย่างดี แหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจกระจายตัวยิ่งขึ้นจากการมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในธุรกิจตลาดทุนจำนวนมาก ทั้งนี้ ธนาคารจะมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหากประสบความสำเร็จในการผสานพลังร่วมภายในกลุ่ม

ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีสินเชื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับ 195.3 พันล้านบาท ธนาคารมีความเสี่ยงในการกระจุกตัวของสินเชื่อจากการมีสินเชื่อขนาดใหญ่เพียง 2 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (70% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (20%) ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2555 สินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 21% ในช่วง 5 ปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยอดขายรถยนต์ปรับตัวลดลงในช่วงปี 2556 และครึ่งปีแรกของปี 2557 ส่งผลให้ธนาคารชะลอการเติบโตในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งนี้ สินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้น 13% ในปี 2556 และ 6% ณ เดือนมิถุนายน 2557

ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารอยู่ในระดับสูงโดยมีการอำนวยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงสูงเพื่อลดทอนต้นทุนทางการเงินที่สูง ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว รวมทั้งสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อการค้าในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนับเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูง

คุณภาพสินเชื่อของธนาคารถดถอยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 7.3 พันล้านบาทในปี 2556 และ 10.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ในเดือนมิถุนายน 2557 เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารได้เริ่มตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อโดยใช้วิธีประมาณค่าความเสียหายเป็นกลุ่มลูกหนี้ (Collective Approach) ตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้สัดส่วนของปริมาณสำรองที่มีอยู่เทียบกับสำรองขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 141% ในปี 2555 เป็น 187% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองส่วนเกินลดลงเนื่องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยสำรองที่มีอยู่ลดลงมาที่ 131% ของสำรองขั้นต่ำ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเผชิญความท้าทายในการรักษาคุณภาพของสินเชื่อมิให้เสื่อมถอยลงไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เอื้ออำนวย

ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2556 จำนวน 4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารลดลงอย่างมากในงวดครึ่งแรกของปี 2557 โดยมีกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท ลดลง 46% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 37% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น 13% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2557 เท่ากับ 0.51% (ไม่ได้ปรับเป็นรายปี) เทียบกับ 0.98% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ แม้ว่าธนาคารจะยังคงรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงในธุรกิจหลักเอาไว้ได้ แต่ต้นทุนทางการเงินยังคงสูงที่สุดในระบบอันสะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันของคู่แข่งที่มากกว่าธนาคาร

เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารลดลงเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อ แต่ยังคงเพียงพอสำหรับการเติบโตในอนาคต โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 13.29% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 13.72% ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวของธนาคารยังคงสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ