PTTEP ปรับลดเป้าปริมาณขายปีนี้ลงเหลือ 8% แต่ปี 58 กลับมาโต10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 31, 2014 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมในปีนี้ลงเหลือเติบโต 8% จากเดิมคาดว่าเติบโต 10% มาที่ 3.17-3.18 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากแหล่งมอนทาร่าในออสเตรเลีย ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย และแหล่งซอติก้าในพม่า มีปัญหาการวางท่อบนบกทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิตไปอีก 3-4 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท จึงทำให้ยอดขายปรับตัวลดลงไปด้วย

แต่บริษัทคาดว่าในปี 58 ยอดขายปิโตรเลียมจะกลับมาเติบโตได้ประมาณ 10% เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากแหล่งซอติก้าเต็มปี รวมถึงจะมีกำลังการผลิตจากแหล่งเบอร์ซาบา จากอัลจีเรียเข้ามาที่คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 20,000 บาร์เรล/วัน

"ปตท.สผ.มีการปรับลดปริมาณการขายปีนี้ลงมาอยู่ที่ 8% จากเดิมเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าจะผลิตได้มาก แต่เพิ่งมาเห็นความชัดเจนเมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยหลุมที่ออสเตรเลียที่เจาะไปไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็มีปัญหาการวางท่อบนบกในประเทศพม่า ทำให้มีการ delay ไป 3-4 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อปัจจัยการผลิตในปีนี้ ขณะที่ปี 58 เราก็อยุ่ในช่วงการทำแผน โดยเบื้องต้นคาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมจะอยู่ 10%" นายเทวินทร์ กล่าว

บริษัทประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปีนี้จะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 80 เหรียญ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าอยู่ระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ก็คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปีหน้าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 85-90 เหรียญ/บาร์เรล ที่จะส่งผลต่อการลงทุนในปีหน้า โดยบริษัทจะทบทวนแผนการลงทุน ซึ่งโครงการที่ยังไม่จำเป็นก็จะชะลอลงทุนออกไปก่อนเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะหากลงทุนไปและไม่ประสบความสำเร็จบริษัทจะมีค่าเสื่อมราคาที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

นายเทวินทร์ กล่าวว่า PTTEP มีความสนใจเข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยจะเลือกประมูลแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งที่บริษัทขุดเจาะและสำรวจอยู่แล้ว คือ แหล่งบงกช แหล่งสุพรรณบุรี รวมทั้งจะเป็นแหล่งที่สามารถผลิตทั้งในทะเลและบนบก รวมทั้งมองว่า การเปลี่ยนวิธีการประมูลเป็นแบบไทยแลนด์ 3 พลัส ถือว่าเป็นวิธีการเหมาะสม เนื่องจากหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ เรียกเก็บส่วนแบ่งผลประโยชน์ในรูปค่าภาคหลวง ที่เก็บเป็นขั้นบันไดตามปริมาณการผลิต จะเป็นการยืดหยุ่นการแบ่งสัดส่วนระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ เห็นว่าจะต้องเร่งรัดให้เกิดการประมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเชิงพาณิขย์ที่คงเหลือพอเพียงการผลิตก๊าซและน้ำมัน ได้ไม่เกิน 8-9 ปี

"เรามีความสนใจ ศึกษาแปลงต่างๆอยู่ โดยมองหาพื้นที่ที่ใกล้กับแหล่งผลิตของเรา เลือกพื้นที่ใกล้เคียงที่จะทำให้ได้ทั้งในทะเลและบนบก มองว่าระบบสัมปทาน ไทยแลนด์ 3 พลัส เป็นระบบที่เหมาะสมพอสมควร ซึ่งจะเกิดความยืดหยุ่นการแบ่งสัดส่วนระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ หากเราขุดเจาะลงไปพบได้มาก ก็จะส่งค่าภาคหลวงให้ได้มาก หากพบน้อยก็ส่งน้อย"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ