ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 331,642 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 24, 2014 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (17 – 21 พฤศจิกายน 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 331,642 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 66,328 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 3% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 61% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 202,973 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 88,835 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,080 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 4.6 ปี) LB21DA (อายุ 7.1 ปี) และ LB155A (อายุ 0.5 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 17,407 ล้านบาท 16,667 ล้านบาท และ 12,886 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) รุ่น IVL243A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 519 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT162A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 382 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) รุ่น AYCAL154A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 338 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ลดลง ประมาณ 0.02% - 0.07% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3/57 ที่ขยายตัว 0.6% (yoy) ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัว 0.4% (yoy) ในไตรมาส 2/57 โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวในส่วนของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสภาพัฒน์ฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวเพียง 1% ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 1.5 - 2%

สอดคล้องกับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบวันที่ 28 - 29 ต.ค. ที่แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากความอ่อนแอในแถบยุโรป และประเทศจีน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3/57 ซึ่งหดตัวลง 1.6% สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวราว 2% สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบด้านลบที่รุนแรงกว่าคาดจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าทิศทางดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกซักระยะ (รวมถึงเริ่มมีนักลงทุนบางกลุ่มคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย) ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว มีส่วนทำให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield) ปรับตัวลดลงตามไปด้วย (ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น)

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 พ.ย. 57) เงินต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) อีก 320 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ