สจล.ขู่ยกเลิกธุรกรรม SCB จวกทำคดียักยอกทรัพย์ล่าช้า-ปกปิดความผิดอดีตพนง.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 22, 2015 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)ออกแถลงการณ์ระบุว่าธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)เป็นต้นเหตุทำคดียักยอกเงินของ สจล.ล่าช้า และตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการปกปิดการกระทำของอดีตพนักงานที่ตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ ดังนั้น สถาบันในฐานะที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจึงขาดความเชื่อมั่นในมาตรฐานการบริหารจัดการเงินฝาก และหลักธรรมาภิบาลของธนาคาร โดยจะทบทวนการทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทกับธนาคารเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของสถาบัน ตลอดจนเพื่อความปลอดภัยทางการเงินของบุคลากรและนักศึกษาของสถาบัน

แถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสืบสวนรูปคดีจากหลักฐานต่างๆ ส่งผลให้คดีมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังขาดเอกสารสำคัญคือ สลิปถอนเงิน และสำเนาการสอบสวนนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ธนาคารกลับออกมาให้ข่าวในทำนองว่าธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบต่อการถอนเงินของสถาบันโดยทุจริต

ดังนั้น สถาบันจึงตั้งข้อสังเกตตลอดจนเรียกร้องขอความร่วมมือให้ธนาคารมอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดแก่พนักงานสอบสวน เพราะเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการกระทำความผิดของนายทรงกลด และหาบุคคล กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำผิดหรือแม้แต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของทางธนาคารด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือ

จากการที่ผู้บริหารของสถาบันเข้าพบผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสของธนาคารทราบว่ากรณีการลาออกจากการเป็นพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ของนายทรงกลดสืบเนื่องมาจากธนาคารได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและผลการตรวจพบว่านายทรงกลดดำเนินการผิดขั้นตอนของการเบิกถอนเงินของสถาบัน โดยมิได้มีลายมือชื่อของผู้บริหารสถาบันกำกับหรืออาจไม่มีใบถอนเงิน เป็นการทำผิดวินัยร้ายแรงด้านการเงิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ส่อไปในทางทุจริตของลูกจ้างธนาคาร แต่ธนาคารกลับมิได้แจ้งความผิดปกติดังกล่าวให้สถาบันทราบ ทั้งที่ ควรจะต้องไล่ออกหรือดำเนินคดี แต่กลับให้นายทรงยื่นใบลาออกไป

การแก้ปัญหาเช่นนี้ทำให้สถาบันขาดความน่าเชื่อถือต่อธนาคารอย่างยิ่งซึ่งสถาบันต้องการทราบว่าผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายของสถาบัน ได้ลงนามย้อนหลังไปให้ธนาคารหรือไม่ เพราะปกติจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการถอนเงินโดยไม่ชอบไปแล้ว และในการปฏิบัติของสถาบันจะต้องแนบใบถอนมาพร้อมกับหนังสือขอคำสั่งอนุมัติ ซึ่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดอยู่ที่ธนาคารต้องเอาออกมาแสดง

การปฏิบัติเช่นนี้จึงนำมาซึ่งความเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลในเวลาต่อมา หากธนาคารมีระบบและการปฏิบัติงานของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้มาตรฐานจริง ก็น่าจะทราบสัญญาณความผิดปกติดังกล่าวในบัญชีของสถาบันซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร และทำการตรวจสอบหรือแจ้งเตือนมายังสถาบัน หรือแจ้งรายงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมิได้ดำเนินการใดใด จนสถาบันเป็นฝ่ายตรวจพบ

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เงินฝากของสถาบันที่ถูกทำการทุจริตไปครั้งนี้เป็นเงินฝากประจำ แต่มีการถอนไปก่อนกำหนดทั้งสิ้น และการเบิกถอนในแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อธนาคารตรวจสอบพบการปฏิบัติงานที่ผิดปกติของนายทรงกลดศรีประสงค์แล้ว ไม่แจ้งธุรกรรมที่น่าสงสัยนี้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ทราบ กลับปกปิดโดยให้นายทรงกลดลาออกไป ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้นายทรงกลดมีโอกาสไปเป็นผู้จัดการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและทุจริตเงินของสถาบันได้อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ