ก.ล.ต. กล่าวโทษบอร์ด-ผู้บริหาร TUCC กับพวกทำบัญชีเท็จ-เบียดบังทรัพย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 16, 2015 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร บมจ.ไทยยูนีค คอยล์เซ็นเตอร์ (TUCC) กับพวก รวม 9 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)กรณีร่วมกัน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดของกรรมการและผู้บริหารของ TUCC ในการบันทึกบัญชีเท็จเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้า ไม่ตรงต่อความเป็นจริง และกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัทเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น และแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทในช่วงปี 2553 - 2554

บุคคลที่ถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) นายยงยุทธ งามไกวัล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (2) นางวัชรีย์ งามไกวัล กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (3) นางสุจิตต์ รุ่งเจริญชัย อดีตกรรมการ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (4) นางสาวนิตยา ยงค์พิทักษ์วัฒนา กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป (5) นางสาวสุทธิรัตน์ เสวี กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี (6) บริษัท บี เอฟ อินเตอร์เทรด จำกัด (“บี เอฟ") (7) บริษัท เค.เอส.ซี. สแตนเลส โปรดักส์ จำกัด (“เค.เอส.ซี.") (8) นางสาวเจริญรัตน์ ชื่นวิรัชสกุล กรรมการของ บี เอฟ และ เค.เอส.ซี. และ (9) บริษัท ไทยนิชเช่ จำกัด (“ไทยนิชเช่")

คดีนี้สืบเนื่องจากผู้สอบบัญชี 2 ราย มีข้อสังเกตในงบการเงินงวดไตรมาส 2 ปี 2554 และงวดปี 2554 และได้แจ้งข้อมูลอันควรสงสัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบของ TUCC ตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบทั้ง 2 ครั้ง ว่าไม่พบความผิด โดยพบว่าบริษัทมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน แต่ไม่พบประเด็นทุจริต

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมและพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่านายยงยุทธ นางวัชรีย์ นางสุจิตต์ นางสาวนิตยา และนางสาวสุทธิรัตน์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัท ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังเพื่อดูแลรักษาประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม

จากข้อมูลที่ตรวจพบ บุคคลดังกล่าวร่วมกันดำเนินการให้บริษัท 2 แห่ง คือ บี เอฟ และ เค.เอส.ซี. ซึ่งเกี่ยวข้องกัน และมีนางสาวเจริญรัตน์ เป็นกรรมการบริษัท ออกเช็คล่วงหน้าให้ TUCC และไทยนิชเช่ (บริษัทย่อยของ TUCC) โดยลวงว่า TUCC และไทยนิชเช่ ได้ขายสินค้าเหล็กดำให้กับบริษัททั้งสองแห่งดังกล่าว แล้วดำเนินการให้ TUCC และไทยนิชเช่นำเช็คดังกล่าวไปขายลดกับสถาบันการเงิน อ้างว่าเพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในกิจการ และเมื่อเช็คที่นำไปขายลดนั้นจะครบกำหนดเรียกเก็บเงิน จึงได้สร้างรายการทางบัญชีที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงว่าสั่งซื้อเหล็กดำจากบริษัทผู้ค้าเหล็กดำ 8 ราย รวมมูลค่ากว่า 520 ล้านบาท เพื่อให้มีการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีธนาคาร โดยอ้างว่าจะนำไปชำระหนี้ตามเช็คของบี เอฟ และ เค.เอส.ซี. ที่นำไปขายลดไว้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่าเงินที่ได้เบิกจากธนาคารไปแล้ว บางส่วนได้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหาร

การกระทำของนายยงยุทธ นางวัชรีย์ นางสุจิตต์ นางสาวนิตยา และนางสาวสุทธิรัตน์ ที่ร่วมกันดำเนินการให้ TUCC บันทึกบัญชีเท็จเกี่ยวกับการซื้อเหล็กดำจากบริษัท 8 แห่ง และการขายเหล็กดำให้กับไทยนิชเช่ บี เอฟ และ เค.เอส.ซี. เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ โดย บี เอฟ เค.เอส.ซี. นางสาวเจริญรัตน์ และไทยนิชเช่ ให้การช่วยเหลือสนับสนุน นอกจากนี้ การกระทำของกรรมการและผู้บริหาร TUCC ทั้ง 5 รายข้างต้น ยังเข้าข่ายเป็นการทุจริตยักยอกเงินของ TUCC ไปเพื่อตนเองและผู้อื่น ฝ่าฝืนมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้นายยงยุทธ นางวัชรีย์ นางสุจิตต์ นางสาวนิตยา และนางสาวสุทธิรัตน์ เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี และต้องพ้นจากตำแหน่งโดยผลของมาตรา 89/4 และมาตรา 89/6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ นับแต่วันที่ถูกกล่าวโทษ โดยในคดีอาญา นายยงยุทธกับพวกมีสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมในการชี้แจงและแสดงหลักฐานต่อพนักงานผู้มีอำนาจในลำดับต่อไป อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม

สำหรับกรรมการตรวจสอบ 3 ราย ที่ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับเหตุสงสัยในเรื่องน่าเชื่อถือของงบการเงินของ TUCC จำนวน 2 ฉบับ และได้รายงานผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. ดังกล่าวข้างต้น ต่อมากรรมการตรวจสอบชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ว่า รายงานดังกล่าวสรุปผลจากการสอบถามข้อมูลจากฝ่ายบัญชีของบริษัทที่ปฏิบัติงานในเรื่องอันเป็นเหตุสงสัยนั้นเอง โดยไม่ได้สอบทานเอกสารหลักฐาน หรือเข้าตรวจสอบด้วยวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมทั้งที่คณะกรรมการตรวจสอบมีบทบาทสำคัญประการหนึ่ง ในการสอบทานรายการทางการเงิน ระบบการควบคุมภายใน และการทำรายการที่ผิดปกติของบริษัท หากพบกรณีในลักษณะดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบควรเร่งหารือกับผู้สอบบัญชี ก่อนที่จะดำเนินการสอบทานในเชิงลึกต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบละเลยการทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้บริหารของ TUCC ในการกระทำผิด ก.ล.ต. จึงมีหนังสือกำชับกรรมการตรวจสอบทุกราย ให้ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ กรรมการตรวจสอบทั้ง 3 รายได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของ TUCC ไปก่อนหน้านี้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ