(เพิ่มเติม) บอร์ด AOTให้ขยายเวลาพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ถึงปี 63 ภายใต้ 6.17 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 18, 2015 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) เผยคณะกรรมการบริษัทอนุมัติขยายเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยจะแล้วเสร็จในปี 2563 ภายใต้วงเงิน 61,738.420 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินเดิม ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวจะทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 85 ล้านคน/ปี

AOT ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้ เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยแบ่งงานก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่แรก ประกอบด้วยงานก่อสร้างลานจอดอากาศยานเพื่อรองรับอากาศยาน จำนวน 28 หลุมจอด ซึ่งทั้งหมดเป็นหลุมจอดระยะไกลสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดย 8 หลุมจอดสำหรับรองรับอากาศยานขนาด A-380 (Code F) และ 20 หลุมจอดสำหรับรองรับอากาศยานขนาด B-747-400 (Code E) พร้อมก่อสร้างระบบทางขับเพื่อเข้าสู่ลานจอดรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมพื้นที่ประมาณ 960,000 ตารางเมตร

งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยาย เพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมต่อในเขตปฏิบัติการบิน รวมถึงงานระบบไฟฟ้าเครื่องกลภายในอุโมงค์ และรองรับระบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคให้กับงานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอุโมงค์ ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าแรงสูง 115 kV สถานีไฟฟ้าหลักหลังที่ 2 (MTS2) ระบบจำหน่ายไฟฟ้า 24 kV และสถานีไฟฟ้าย่อยระบบจำหน่าย ระบบประปา ระบบน้ำเสีย และระบบการจัดการขยะ

โครงการระยะที่ 2 ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) , งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก, งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก และงานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover: APM)

สำหรับระยะเวลาการก่อสร้างตามโครงการฯ ได้มีการพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ปริมาณผู้โดยสาร และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร โดยการก่อสร้างตามโครงการระยะที่ 1 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมี.ค.59 และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 2 ประมาณเดือนต.ค.60 มีกรอบงบประมาณดำเนินการ ทั้งสิ้น 61,738.420 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคากลาง โดยรวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง 10% , ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างราว 1.76 พันล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยไม่มีการเพิ่มเติมปริมาณงานไปจากที่ได้รับอนุมัติจากครม.

ทั้งนี้ AOT จะต้องเสนอกระทรวงคมนาคม และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งจากการพัฒนาดังกล่าวเมื่อโครงการออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 แล้วเสร็จในปี 62 จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 70 ล้านคน/ปี และในปี 62 ทางวิ่งเส้นที่ 3 จะสามารถใช้ได้ ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น และในปี 63 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 85 ล้านคน/ปี

ก่อนหน้านี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ได้รับอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากครม. เมื่อวันที่ 24 ส.ค.53 โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน/ปี จาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ประกอบด้วย งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก, งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ,งานระบบสาธารณูปโภค และงานจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการในวงเงิน 62,503.214 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.ย.57 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ขอให้ AOT ทบทวนโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ AOT เมื่อวันที่ 28 ต.ค.57 ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงแผนการดำเนินงานโครงการ โดยมีแผนการดำเนินงาน 3 งาน ได้แก่ งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน เพื่อรองรับอากาศยาน จำนวน 28 หลุมจอด ,งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายเพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมต่อในเขตปฏิบัติการบิน และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคให้กับงานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอุโมงค์

สำหรับงานในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. และยังไม่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1, งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก และงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน ให้ฝ่ายบริหารพิจารณาทบทวนรูปแบบและการก่อสร้างให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการดำเนินการตามแนวทางที่คตร.ได้ให้ข้อสังเกต โดยพิจารณาประกอบกับปริมาณการจราจรทางอากาศ และขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารในอนาคต รวมทั้งความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของ AOT ในระยะยาวด้วย

ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการ AOT ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.58 ได้ให้ความเห็นชอบโครงการทางวิ่งสำรอง วงเงิน 20,243.106 ล้านบาท โดยคาดว่าการก่อสร้างทางวิ่งสำรองความยาว 2,900 เมตร จะแล้วเสร็จในปี 60 และ เมื่อผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ( EHIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว AOT จะดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งให้สามารถใช้งานได้ที่ความยาว 3,700 เมตร และให้เป็นทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62

นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งดังกล่าว คณะกรรมการ AOT ยังให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวงเงิน 27,684.392 ล้านบาทด้วย

          นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ AOT กล่าวว่า บริษัทเตรียมจะเสนอรายละเอียดของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือนนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอแผนก่อสร้างทางวิ่งสำรอง ความยาว 2,900 เมตร วงเงิน 20,243.106 ล้านบาท และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ด้านเหนือ)วงเงิน  27,684.392 ล้านบาทไปให้กระทรวงคมนาคมแล้ว
          บริษัทจะใช้เงินลงทุนจากรายได้และเงินสดหมุนเวียนที่มีประมาณ 44,000 ล้านบาทในการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบกับสภาพคล่อง ทำให้กระแสเงินสดติดลบประมาณ 6,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนต.ค.60 เป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ  6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวบริษัทได้วางแผนว่าจะหาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศมาสริมสภาพคล่อง
          สำหรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้บบริษัทจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้นก็จะเร่งสรุปรายละเอียดเหตุผลข้อดีข้อเสียเพื่อชี้แจงต่อไป อย่างไรก็ตามการที่บริษัทเลือกใช้เงินทุนที่มีอยู่ในการลงทุนนั้น เป็นการพิจารณาจากต้นทุนการเงินที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก และต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นของ AOT ด้วย โดยเฉพาะการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น เป็นการนำเงินในอนาคตมาจ่ายผลตอบแทนเพื่อจูงใจ ซึ่งจะมีดอกเบี้ยสูงกว่า
          นายประสงค์ กล่าวว่า หากนโยบายรัฐบาลยังคงต้องการให้บริษัทเป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังมีโครงการอื่นที่สามารถนำมาดำเนินการได้ เช่น การขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่ม 8 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 7 ล้านคน/ปี หรืออาจจะเป็นการลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการบิน(Non Aero) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การลงทุนพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ของ ทอท. หรือกิจกรรมด้าน CSR  เป็นต้น ซึ่งจะศึกษารายละเอียดและนำเสนอแผนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ