ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนฯ 4 พันลบ.LHBANKที่ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 23, 2015 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LHBANK) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ที่ระดับ “BBB" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสำเร็จในการขยายสินเชื่อให้มีการกระจายตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งการมีสินเชื่อที่มีคุณภาพดี และการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดเล็กทั้งสินเชื่อและเงินรับฝาก ตลอดจนการพึ่งพาแหล่งรายได้เพียงไม่กี่แห่ง ความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

อันดับเครดิต “BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 สะท้อนถึงความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารประเภทนี้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 อย่างไรก็ตาม ตราสารนี้จะสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจาก ธปท. แล้ว

ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ นอกจากนี้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนด ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและสร้างรายได้อย่างมั่นคง โดยอยู่บนพื้นฐานความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อมิให้เสื่อมถอยลง ตลอดจนดำรงเงินกองทุนส่วนเกินอย่างเพียงพอต่อความเสียหายที่เกินกว่าคาดการณ์ และรักษาฐานเงินทุนที่มั่นคงไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากการเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อเป็นเหตุให้ธนาคารมีต้นทุนด้านเครดิตสูงขึ้นหรือมีเงินกองทุนส่วนเกินลดลงอย่างมาก ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกถูกจำกัดในระยะเวลาอันใกล้ เว้นแต่สถานะทางการตลาดและเงินกองทุนของธนาคารดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยากในระยะสั้นเนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการแข่งขันที่รุนแรง

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เริ่มต้นธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยในเดือนธันวาคม 2548 และขยายขอบเขตของธุรกิจเพิ่มขึ้นภายหลังได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารนับเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในกลุ่ม โดยมี LHFG เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในธุรกิจการเงินของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ได้แก่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (ได้รับอันดับเครดิต “A+" จากทริสเรทติ้ง) บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์(อันดับเครดิต “A-") และนางสาวเพียงใจ หาญพาณิชย์ โดย ณ เดือนเมษายน 2557 มีสัดส่วนการถือหุ้น 34%, 21% และ 17% ตามลำดับ

ธนาคารได้ประโยชน์จากการผสานพลังร่วมของกลุ่มบริษัทในเครือในการช่วยขยายธุรกิจและฐานลูกค้า ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 จากทั้งสิ้น 17 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 1.1% และเงินรับฝาก 1.1% ธนาคารได้ขยายสาขาเพื่อเสริมช่องทางการให้บริการลูกค้าเพื่อวางรากฐานรองรับการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

สินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 27% จากปี 2553 ถึงปี 2557 โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 52% สินเชื่อ SME 20% และสินเชื่อรายย่อย 28% ธนาคารมุ่งเน้นขยายสินเชื่อธุรกิจมากขึ้นภายหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร ทั้งนี้ สินเชื่อขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากและส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการอำนวยสินเชื่อใหม่ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ณ เดือนธันวาคม 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับเพิ่มขึ้นเป็น 116.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากเดือนธันวาคม 2556

คุณภาพสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าจะเสื่อมถอยลงบ้าง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.9% ในปี 2555 เป็น 2.1% ในปี 2557 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยถดถอยลงจากการมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย 4.3% ณ เดือนธันวาคม 2557 เพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพิ่มปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินเพื่อรองรับความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการที่คุณภาพสินเชื่อถดถอยลงในอนาคต ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีสำรองหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 165% ของปริมาณสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 115% ในปี 2555

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารอื่น โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ดีเนื่องจากมีเงินรับฝากจากรายย่อยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการขยายเครือข่ายสาขา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นทีละน้อยตั้งแต่ปี 2555 อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารยังคงเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากการขายเงินลงทุน ทั้งนี้ การที่กำไรสุทธิของธนาคารประกอบด้วยกำไรจากการขายเงินลงทุนในสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น อาจส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารมีความผันผวนได้มากกว่าธนาคารอื่น

เงินกองทุนส่วนเกินของธนาคารลดน้อยลงเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนน่าจะเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 11.32% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 12.41% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ