โกลเบล็ก มองปัจจัยบวกคละลบทำหุ้นไทยสัปดาห์นี้ผันผวนขาขึ้น กลุ่มมือถือ-รับเหมาเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2015 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก (GBS) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีปัจจัยบวก/ลบที่คละเคล้า โดยปัจจัยบวกจากการเข้าสู่ช่วง Preview งบ Q1/58 กลุ่มธนาคาร คาดว่าจะกำไรทั้งกลุ่มจะเติบโตขึ้นจาก Q4/57 รวมถึงแรงซื้อจากกองทุน Trigger fund ที่ปิดการขายหน่วยไปแล้วมูลค่าราว 9 พันลบ.ซึ่งเตรียมที่จะเข้าซื้อในช่วงต้นเดือนเม.ย. อย่างไรก็ตามแรงกดดันจาก FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น การเจรจาแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระหว่างกรีซและ EU , IMF ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงเป็นแรงลบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ดังนั้นคาดว่า SET จะเป็นลักษณะผันผวนขาขึ้น(มีสลับพักตัวเป็นรอบๆ)เพื่อทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,515–1,520 จุด

ทั้งนี้ คาดว่ายังมีปัจจัยบวกจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มีความคืบหน้าประมูล 4G 11 พ.ย, เปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ส่วน 900 MHz เคาะราคา 15 ธ.ค.2558 , และอัตราว่างงานยูโรโซนเดือนก.พ.อ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดที่ระดับ 11.3% สะท้อนว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับนักเศรษฐศาสตร์จีนมองว่าเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นใน 2Q58

ส่วนปัจจัยด้านลบ เป็นเรื่องของการเจรจาล่าสุดเกี่ยวกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ และการเจรจาอาจดำเนินต่อไปในสัปดาห์หน้า รวมถึงกลุ่มประเทศยูโรโซนรายงานอัตราเงินเฟ้อเบื้องต้นในเดือนมี.ค.ติดลบ 0.1% เพิ่มขึ้นจากติดลบ 0.3% ในเดือนก.พ. ยังห่างไกลเป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างมาก และด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเดือนก.พ. ยังเป็นไปอย่างช้าๆ การใช้จ่ายภาคเอกชนทรงตัว การใช้จ่ายภาครัฐใกล้เคียงเดือนก่อน ส่วนการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นจากที่กองกำลังสหรัฐและประเทศพันธมิตรปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง และซาอุดิอาระเบียโจมตีทางอากาศกลุ่มกบฏฮูธีในเยเมน

สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในสัปดาห์แรกของเดือนเม.ย. ยังอยู่ในช่วงของการ preview ง Q1/58 ของหุ้นกลุ่มแบงก์ก่อนจะถึงกำหนดส่งงบภายใน 21 เม.ย. ทั้งนี้ในวันที่ 2 เม.ย. สหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ ดุลการค้าต่างประเทศเดือนก.พ. ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. /เยอรมนีเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 3 เม.ย. สหรัฐเปิดเผยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค./ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภารบริการเดือนมี.ค. 7-8 เม.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น 15 เม.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางยุโรป 17 เม.ย. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ / รัฐบาลแถลงผลงานครบรอบ 6 เดือน สุดท้ายคือ วันที่ 28-29 เม.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก แนะนำการลงทุนว่า เนื่องจาก SET มีแนวโน้มผันผวนขาขึ้นสลับพักตัวเป็นรอบ ดังนั้นให้ซื้อเก็งกำไรเป็นรอบ (ลงซื้อ/ขึ้นขาย) โดยเน้น selective buy หุ้นกลุ่มที่มีประเด็นรองรับ เช่น ICT มีความคืบหน้าประมูล 4G "11 พ.ย." คลื่น 1800 MHz ส่วน 900 MHz เคาะราคา 15 ธ.ค.2558 กลุ่มธนาคารเข้าสู่ช่วง Preview งบ Q1/58 กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวลง ส่วนกลุ่มสายการบินให้รอซื้อช่วงอ่อนตัว เพราะแม้จะได้ประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันลดลง แต่ถูกแรงกดดันจากไม่ผ่านมาตรฐาน ICAO

ด้านนักวิเคราะห์ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนในทองคำ เปิดเผยว่า แนวโน้มฟื้นตัวระยะสั้นเพื่อรอดูทิศทางนั้น ราคาปรับลงมาต่ำกว่าแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วัน หลังขึ้นมาใกล้จบแนวขึ้นรูปแบบ V-SHAPE แต่การพักตัวที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้แนวรับการสร้างรูปแบบไหล่ขวาในรูปแบบหัวและไหล่ขาขึ้น ประกอบกับระยะสั้นราคาลงมาจบแนวลง THREE BLACK CANDLESTICKS ทำให้ราคามีโอกาสที่จะฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการที่ราคาแกว่งตัวอยู่ภายใต้เส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วัน ที่ยังเป็นแรงกดดันอยู่ จะทำให้ราคาฟื้นตัวขึ้นได้ไม่มากนัก หากไม่ผ่านยืนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วัน จะทำให้ราคากลับมาอยู่ในแนวโน้มพักตัวก่อนหน้าและหักล้างแนวรับไหล่ขวา ส่งผลให้ราคาทองมีโอกาสพักตัวลงต่อ ดังนั้นการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจะเน้นการผ่านยืนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 5 วันที่ 1193 เป็นหลัก

ดังนั้น จึงแนะนำกลยุทธ์ เปิดสถานะ Long Gold Futures ในทุก SERIES เมื่อผ่านยืนแนวต้าน 1193 ไม่ผ่านยืนให้กลับมาเปิดสถานะ Short Gold Futures ที่แนวรับ 1175/1150 แนวต้าน 1193 / 1220

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยแนะนำจับตาประเด็นที่น่าสนใจ คือ ดัชนีภาคการผลิตจีน ยอดจ้างงานทั่วประเทศสหรัฐ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐ ยอดดุลการค้าสหรัฐ ยอดจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ อัตราว่างานสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ