(เพิ่มเติม) PTT รุกแผนลงทุนปิโตรเลียมขั้นปลาย 5 ปีเน้นใน ปท.แม้มองราคาน้ำมันยังต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 2, 2015 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.(PTT)ยังเดินหน้าแผนลงทุนปิโตรเลียมขั้นปลายทั้งสายโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี รวมถึงธุรกิจน้ำมัน ภายใต้งบลงทุนช่วง 5 ปี (ปี 58-62) รวม 2.5 แสนล้านบาท เน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ขณะที่มองหาโอกาสลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายงานและจัดหาวัตถุดิบป้อนเข้ากระบวนการผลิตปิโตรเคมีในอนาคต หลังปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มลดลง

ขณะที่มองราคาน้ำมันดิบในช่วง 5 ปีจากนี้จะเป็นขาขึ้นจากที่อยู่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่คงยังไม่กลับไปเคลื่อนไหวสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้เร็วนัก เนื่องจากปริมาณการผลิตยังสูงกว่าความต้องการใช้ ทั้งนี้ มองราคาน้ำมันที่ไต่ระดับขึ้นจากปลายปีที่แล้วจะทำให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีกำไรจากสต็อกในไตรมาส 1/58 และทั้งปีนี้ด้วย

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT กล่าวว่า การลงทุนธุรกิจขั้นปลายของกลุ่ม ปตท.ช่วง 5 ปีนี้ยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมที่ 2.5 แสนล้านบาท แม้ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงจะกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่ม ปตท.ก็ตาม ทำให้ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนแต่ละโครงการด้วย

การลงทุนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายยังคงมีวงเงินลงทุนในระดับเดิม แต่อาจจะมีการยืดระยะเวลาการลงทุนออกไปจากในช่วงปีแรกๆบ้างตามความเหมาะสม โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการต่างๆของโรงกลั่นน้ำมัน เพราะต้องพิจารณาจากความพร้อมของฐานะการเงินของแต่ละบริษัทด้วย ขณะที่วงเงินลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซียและเวียดนาม

"การลงทุนของกลุ่มดาวน์สตรีมใน 5 ปีนี้อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น เป็นเรื่องของไทยออยล์ ไออาร์พีซี พีทีทีจีซี ทั้งกลุ่มตัวเลขก็อยู่ประมาณนี้...โครงการพวก upgrading ในกระบวนการต่างๆของโรงกลั่น อาจจะมีเรื่องกระแสเงินสดบ้างก็ให้ไปดูฐานะการเงินว่าพร้อมจะทำหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็เลื่อนเวลาออกไป แผนก็ยังคงเป็นแผน"นายสรัญ กล่าว

นายสรัญ กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลงมากในช่วงไตรมาส 4/57 ส่งผลกระทบต่อทั้งกลุ่มให้มีผลขาดทุนจากสต็อกราว 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของผลประกอบการจริงของกลุ่มโรงกลั่นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หากไม่พิจารณาผลกระทบจากสต็อกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันช่วงนี้ที่ขยับขึ้นจากระดับต่ำในปลายปีที่แล้ว ทำให้คาดว่าธุรกิจของกลุ่มจะกลับมามีกำไรจากสต็อกได้ในช่วงไตรมาส 1/58 และมองว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวระดับกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปัจจุบันไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ก็จะทำให้ทั้งปีนี้น่าจะทำกำไรจากสต็อกได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนในช่วง 5 ปีจากนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคน้ำมันดิบจะเป็นขาขึ้น แต่คงไม่สูงมาก โดยมองว่าราคาน้ำมันคงไม่กลับไปเคลื่อนไหวช่วงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากกำลังการผลิตยังสูงกว่าความต้องการใช้น้ำมันตามภาวะเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับกราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะปรับขึ้นได้ไม่มากนัก เพราะจะมีกำลังการกลั่นน้ำมันมากขึ้นจากผลการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่น และราคาน้ำมันดิบที่ถูกลง รวมถึงทิศทางราคาปิโตรเคมีด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ แต่ส่วนต่างผลิตภัณฑ์(สเปรด)ปิโตรเคมีเชื่อว่าจะยังอยู่ระดับที่ดี เพราะราคาขายปรับลดลงไม่มากเหมือนราคาวัตถุดิบที่อิงราคาน้ำมัน

ในส่วนของ ปตท.ได้ปรับตัวรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำดังกล่าว โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายทั้งงบลงทุนและงบทำการ ตลอดจนการทำประกันความเสี่ยงทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและราคาผลิตภัณฑ์ เพื่อบริหารความเสี่ยงของราคาสินค้าและค่าเงินบาทด้วย รวมถึงมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่ม การทำงานร่วมกันของกลุ่มทั้งในด้านของค่าใช้จ่าย,การใช้วัตถุดิบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

นายสรัญ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางจาก และโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง ของกลุ่ม ปตท.นั้น จะทำให้ ปตท.คงเหลือการถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันเพียง 3 แห่งจากเดิม 5 แห่ง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะปกติแต่ละโรงกลั่นก็ดำเนินการด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่จะไม่ได้รับเงินปันผลจากการลงทุนเท่านั้น ขณะที่การขายโรงกลั่นน้ำมันทั้งสองออกไปจะทำให้ ปตท.มีความชัดเจนในการทำตลาดมากขึ้น

แผนงานธุรกิจน้ำมันของ ปตท.ในประเทศจะยังคงเน้นการปรับปรุง, สร้างเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการมากกว่าการเพิ่มจำนวน โดยมีเป้าหมายการเปิดสถานีบริการเพิ่ม 50 แห่ง/ปี และปิดสถานีบริการบางแห่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้ยังคงรักษาจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศในระดับ 1,400 แห่งต่อไป

ส่วนธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มน้ำมันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแยกธุรกิจให้มีความชัดเจนและเตรียมพร้อมทางเลือกต่างๆที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งยังไม่มีแผนการชัดเจนถึงการนำธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

"ก็มีหลายแนวคิดว่าถ้าเผื่อแยกจะแยกเฉพาะนอนออยล์ หรือนอนออยล์บวกรีเทล หรือเอาคลังไปด้วย ก็ต้องดูอันไหนจะดีที่สุดยังเปรียบเทียบกันอยู่ว่าอันไหนจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปตท. อีก 2-3 เดือนก็น่าจะศึกษาเสร็จ...ในอดีตที่ผ่านมาปตท.ถูกโจมตีว่าใหญ่เกินไปหรือเปล่า การขายโรงกลั่นออกไปก็เป็นการลดกระแส การใหญ่ก็ดี แต่ถ้าใหญ่เกินไปก็เป็น negative ได้เกิดความรู้สึกผูกขาด เอาเปรียบ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมหากมีความเป็นมากกว่า ศึกษาเสร็จแล้วมาตัดสินใจ ดูสิ่งแวดล้อมด้วยว่าควรจะทำเมื่อไหร่อย่างไร"นายสรัญ กล่าว

*ลงทุนตปท.

นายสรัญ กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของปตท.นั้น แม้จะเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ยังมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) ที่กำลังมองโอกาสการลงทุนอีเทนแครกเกอร์ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยใช้ shale gas เป็นวัตถุดิบนั้น เป็นแผนที่มีความน่าสนใจและเป็นไปได้สูง โดยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยรองรับการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตปิโตรเคมีในประเทศของ PTTGC ในอนาคต จากปัจจุบันที่พึงพิงวัตถุดิบหลักที่เป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดน้อยลง

นอกจากนี้ PTTGC ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความสมดุลระหว่างการใช้ก๊าซฯและแนฟทาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี จากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบหลักเกือบทั้งหมด โดยบริษัทกำลังพิจารณาปรับปรุงโมเดลการผลิต รองรับการใช้แนฟทา ซึ่งได้จากกระบวนการกลั่น มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์มากขึ้น

"เขาจะเริ่มกลับมามองดูว่าจากเดิมที่เป็น Gas base ในการทำธุรกิจปิโตรเคมี ก็อาจจะต้อง balance วัตถุดิบด้วย อาจจะมีแนฟทาเข้ามา ไม่ได้เป็น Gas base เป็นส่วนใหญ่อาจต้อง balance ระหว่างก๊าซฯและแนฟทาให้มากขึ้นเพื่อความมั่นคงระยะยาว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเขาจะเริ่มลงทุนบางส่วนที่ใช้แนฟทาด้วย...เป็นแนวคิดที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด เพราะวัตถุดิบในประเทศเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคย enjoy วัตถุดิบในอ่าวมา 20 กว่าปี"นายสรัญ กล่าว

PTTGC ซึ่งดำเนินธุรกิจกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์รายใหญ่ของไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 40% ในระดับเดียวกับของกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีที่ใช้แนฟทา เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งทำให้ PTTGC มีความได้เปรียบจากการเป็น Gas Base Producer ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ากลุ่ม Naphtha Base Producer

นายสรัญ กล่าวว่า แผนการลงทุนในอาเซียนของกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลายนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปตามโอกาสที่เหมาะสม โดยในส่วนของ PTTGC ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย ร่วมกับเปอร์ตามิน่า แม้จะพลาดโอกาสเข้าไปลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในอินโดนีเซียแล้วก็ตาม

ส่วนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ในนามของปตท.เองนั้น อาจมีความล่าช้าหลังเวียดนามให้ปตท.หาพันธมิตรท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินการด้วย ประกอบกับยังต้องศึกษาสถานการณ์น้ำมันและปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ประกอบการตัดสินใจด้วย โดยเงินลงทุนตามแผน 5 ปีของกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลายที่ระดับ 2.5 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่นับรวมโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม และอินโดนีเซียดังกล่าว

ขณะที่โอกาสการลงทุนในเมียนมาร์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แม้จะพลาดเรื่องการลงทุนธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานในเมียนมาร์ก็ตาม แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลสรุปการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันขนาด 2 หมื่นบาร์เรล/วัน หลังจากที่ ปตท.ร่วมกับ บมจ.ไทยออยล์(TOP) ยื่นข้อเสนอไปเพียงรายเดียว ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนราว 16-18% และในเร็วๆนี้ทางเมียนมาร์ก็จะเปิดประมูลการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจคลังน้ำมันขนาดเล็ก ซึ่งปตท.ก็สนใจจะยื่นข้อเสนอดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจน้ำมันของปตท.เอง ก็มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมันในอาเซียนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 122 แห่งทั้งในลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์ โดยในปีนี้จะเน้นธุรกิจค้าปลีกในกัมพูชามากขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จในลาวมาแล้ว โดยมองศักยภาพของสถานีบริการในกัมพูชาที่จะเหมาะสมควรจะอยู่ระดับมากกว่า 20-30 แห่งขึ้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ