(เพิ่มเติม) GPSC เคาะราคา IPO 29 เม.ย.เสนอขาย 7-12 พ.ค.เข้าเทรด 18 พ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 20, 2015 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC)เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 374.57 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท โดยมี บล.เคที ซีมิโก้, บล.ฟินันซ่า และบล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะสามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในช่วงไตรมาส 2/58

ขณะที่นายวราห์ สุจริต กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า คาดว่า จะสามารถยำหุ้น GPSC เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) วันแรกได้ในวันที่ 18 พ.ค.58 โดยจะกำหนดช่วงราคาเสนอขายในวันที่ 27 เม.ย.58 และเคาะราคาขายในวันที่ 29 เม.ย.58 หลังจากการทำ Book Building ซึ่งขณะนี้มีนักเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 9 รายได้ให้ราคา Fair Value ในช่วง 30-35 บาท/หุ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจำหน่ายหุ้น IPO ของ GPSC จะสามารถจำหน่ายได้ในช่วงวันที่ 7-12 พ.ค.58 โดยการกระจายหุ้น IPO ในเบื้องต้นแบ่งเป็นการเสนอขายให้นักลงทุนสถาบัน 30-40% และส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย

"เรามองภาวะตลาดในช่วงนี้ Index เริ่มกลับมาแข็งแรงขึ้นในระดับ 1,560 จุด จากช่วงก่อนหน้าที่ร่วงไปที่ 1,500 จุด ตอนนี้โดยรวมตลาดก็ดี มีสภาพคล่องดี ของใหญ่ๆยังไม่มีเข้ามามาก หุ้น GPSC ก็เป็นหุ้นตัวหนึ่งในหุ้นตัวใหญ่ของปีนี้ ซึ่งเป็นไซส์ที่ Must Buy"นายวราห์ กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าจะได้สามารถระดมทุนในการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยตั้งงบลงทุนในการขยายกำลังการผลิตและการเข้าซื้อกิจการภายใน 5 ปี (58-62) รวมทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่มาจากการกู้สถาบันการเงินที่บริษัทยังสามารถกู้ได้อยู่จำนวน 6 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 500 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และเงินจำนวนอีก 1.2 หมื่นล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้จาก IPO และเงินจากการกู้สถาบันการเงินนั้นจะใช้เพิ่มกำลังการผลิต 600-1,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 62 ทั้งสิ้น 2,800 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 1,300 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตจะเติบโตปีละ 17% ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ที่บริษัทตั้งไว้เติบโตปีละ 17% ในช่วง 5 ปี (58-62) เช่นกัน โดยในปี 57 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถเข้าเทรดใน SET 50 ภายในปีนี้หรือในปีแรกที่เข้าเทรด เนื่องจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับคาดว่าจะสามารถเป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเข้ากลุ่ม Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ได้ภายในปีแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อนำไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจต่างๆของบริษัททั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำด้าธุรกิจโรงไฟฟ้าของเอเชียด้วยการขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 62 เน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอร์เรชั่น, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

นายนพดล กล่าวว่า บริษัทจะดำเนินการตามกลยุทธ์ 4 แนวทางหลักคือ 1.การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในกลุ่มปตท. 2.การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้นหรือการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้นจึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น การลงทุนต่อเนื่องในโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น ในเฟส 2 (BIC2) และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และก๊าซชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น

นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายจะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุดบริษัทเข้าลงทุนใน Ichinoseki Solar Power -1GK ในสัดส่วน 99% เพื่อดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก METI ของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนจะยื่นขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 60

3.การเติบโตในการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียงเช่น เมียนมาร์, สปป.ลาว, กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น และ 4.การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่นธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตามเงินที่ได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งก็ยังจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ