กฟผ.คาด EGATIF ให้ผลตอบแทนมากกว่า 5%,ลงทุน 5 ปีไม่น้อยกว่า 4-5 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 28, 2015 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คาดว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGATIF) ขนาด 2 หมื่นล้านบาท อายุ 20 ปีนั้นจะให้ผลตอบแทนมากกว่า 5% โดยการตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนตามแผน 5 ปี(ปี 58-62)ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 4-5 แสนล้านบาท รองรับการขยายงานทั้งในส่วนของระบบสายส่งและการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

ทั้งนี้ กฟผ.จะถือหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าวราว 1 ใน 4 ของขนาดกองทุน คิดเป็นมูลค่าราว 5 พันล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอื่นๆ และมีไซเร้นท์พีเรียดเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่กองทุนจะจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นทุกไตรมาส และทุกสิ้นปีจะทยอยคืนเงินต้นด้วย

"กองทุน infrastructure fund ไม่ใช่กองทุนประเภทที่จะสร้างการเติบโตหรือจะได้ capital gain แต่เป็นเงินทุนระยะยาว และจะได้ปันผล...ผลตอบแทนโดยรวมน่าจะสูงกว่าพันธบัตร ผลตอบแทนพันธบัตร 20 ปีน่าจะอยู่ที่ 4-5% แต่ infra มีความคล่องตัวกว่า จ่ายปันผลทุกไตรมาส ทุกๆสิ้นปีไตรมาส 4 ก็จะจ่ายเงินต้นคืนด้วย เฉลี่ยๆสูงกว่าพันธบัตรทั่วไป น่าจะ 5% ขึ้นไป"นายสุนชัย กล่าว

อนึ่ง วันพรุ่งนี้ กฟผ.จะแถลงข่าวเปิดตัวกองทุน EGATIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรัฐวิสาหกิจกองแรกของประเทศไทย โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายสุนชัย กล่าวอีกว่า กองทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติในระยะต่อไป โดยกองทุนมีวงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนจะใช้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่งเดินเครื่องผลิตแล้วเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้ถือหน่วย โดย กฟผ.จะมีรายได้จากการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าเข้ามาตลอดอายุ 20 ปี รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 725 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 230 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 265 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง

นายสุนชัย กล่าวว่า เม็ดเงินระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการลงทุนตามแผน 5 ปีของ กฟผ.ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 4-5 แสนล้านบาท โดยจะลงทุนในปีนี้ราว 4 หมื่นล้านบาทมาจากกองทุน EGATIF จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากกำไรและกระแสเงินสด ขณะที่ กฟผ.ยังมีวงเงินกู้พันธบัตรที่จะทยอยใช้ได้อีก 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กฟผ.มีกำไรปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จัดส่งเงินให้กับกระทรวงการคลังประมาณ 45% ของกำไร ส่วนที่เหลือก็จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุน ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลได้เรียกเงินนำส่งเข้ารัฐเพิ่มขึ้น ซึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะสามารถจ่ายเพิ่มได้อีกราว 5-6 พันล้านบาทเท่านั้น

การลงทุนตามแผน 5 ปีจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปี กว่า 2 แสนล้านบาท ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 1,000 เมกะวัตต์ รวม 2 โครงการ มูลค่าลงทุนราว 1.4 แสนล้านบาท และโรงไฟฟ้าบางปะกง และพระนครใต้ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ กำลังการผลิตโครงการละ 1,300 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนโครงการละ 3.5 หมื่นล้านบาท ทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 62-64

นอกจากนี้ กฟผ.จะลงทุนระบบสายส่งตามแผน 5 ปีจะใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น โครงการปรับปรุงสายส่ง 500 KV จากภาคตะวันตกไปยังภาคใต้, ทยอยปรับปรุงระบบส่งที่มีอายุเกิน 30 ปี และการปรับปรุงระบบส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตก 2 เส้น เป็นต้น รวมถึงยังมีโครงการที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ สายส่งภาคใต้บริเวณสุราษฎร์ธานีถึงหาดใหญ่ และภาคเหนือจากลำพูนถึงเชียงใหม่ เป็นต้น

*สายส่งไม่พอรับกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน

นายสุนชัย กล่าวว่า ขณะนี้ระบบสายส่งของประเทศเหลือไม่มากนัก ประกอบกับยังมีปัญหาเทคนิคของระบบสายส่งเดิมทำให้มีขีดจำกัดในการรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาระบบ โดยเฉพาะกำลังผลิตใหม่จากโครงการพลังงานทดแทนตามนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ยังไม่ได้ผูกพันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ทำให้อาจไม่สามารถรองรับกำลังผลิตได้ทั้งหมดตามแผนของรัฐบาลที่จะนำเข้าระบบภายใน 1-2 ปีนี้

"พวกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่าโครงการค้างท่อกว่า 1 พันเมกะวัตต์นั้น อันนี้เรา reserve ไว้แล้ว อย่างโซลาร์ส่วนราชการ ยังไม่ได้สำรอง หรือกลุ่มไบโอแมสที่จะเข้าอาจต้องรอระบบส่งเข้มแข็งกว่านี้ เรากำลังพิจารณาเป็นจุดๆ ก็จะเริ่มพิจารณาจากทางเทคนิคก่อน...ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมก็ต้องมีการบริหารจัดการ"นายสุนชัย กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนจะเปิดส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ FiT biding ซึ่งเป็นโครงการที่มาทดแทนระบบ Adder เดิมโดยเปิดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและขายไฟฟ้าเข้าระบบมายื่นข้อเสนอได้แทนที่จะใช้รูปแบบเดิมก็มาเป็นการประมูล ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงประเภทขยะมากที่สุด สำหรับอีกโครงการคือ โซลาร์ส่วนราชการ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเบื้องต้นมีกำหนดจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในมิ.ย.59

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีโครงการส่งเสริมเดิมที่คงค้างอยู่ ได้แก่ โซลาร์ค้างท่อกว่า 1 พันเมกะวัตต์ และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นที่ไม่ใช่แสงอาทิตย์ในระบบ Adder เดิม ซึ่งมีผู้ยื่นความจำนงมารวมเกือบ 700 เมกะวัตต์ ในส่วนของโซลาร์ค้างท่อมีการสำรองระบบส่งไว้หมดแล้ว ส่วนโครงการพลังงานทดแทนอื่นเกือบ 700 เมกะวัตต์นั้นยังต้องพิจารณาศักยภาพของสายส่งก่อน

นายสุนชัย กล่าวว่า ระบบส่งเพื่อรองรับพลังงานทดแทน ยังมีปัญหาใน 3 ส่วน ได้แก่ ปัญหาทางเทคนิคที่เป็นระบบส่งเก่า ทำให้มีขีดจำกัดในการรองรับ ,ระบบสายส่งต้องรองรับกลุ่มผู้ผลิตที่มี PPA แล้ว ขณะที่การใช้ไฟฟ้าที่ไม่มากพอ โดยปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตได้เพียง 2% แต่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้อาจต้องใช้การบริหารจัดการด้วยการลดการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว เพื่อหันมารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้ามา ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวมีต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เป็นการลดการผลิตไฟฟ้าจากของกฟผ.เข้าระบบ

"ตอนนี้เราให้ข้อมูลไปแล้วว่าโซนไหนรับไฟฟ้าได้อย่างไรที่จะไม่มีผลทำให้ระบบเสียหาย ถ้ามากกว่านั้นต้องใช้การบริหารจัดการ อาจจะไปลดแหล่งผลิตที่ถูกกว่า ซึ่งทุกวันนี้ก็ลดอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลมีตัวเลขที่ชัดเจนออกมาว่าจะรับซื้อเท่าไหร่ ก็ต้องไปลดเพิ่มอีก ซึ่งก็แล้วแต่นโยบาย"นายสุนชัย กล่าว

ปัจจุบัน ไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งราว 34,000 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตจาก กฟผ.กว่า 40% ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตจากภาคเอกชนและการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(peak) ปีนี้อยู่ที่ราว 27,000 เมกะวัตต์ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จะมีความสามารถในการเดินเครื่องผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีได้ที่ระดับ 92-93% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ จะมีความสามารถในการเดินเครื่องผลิตได้ต่อเนื่องราว 16% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ