5 เทศบาลในขอนแก่นจับมือเอกชนตั้ง บ.ร่วมทุนทำรถไฟฟ้าหวังดันตั้งกองทุน IFF

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 23, 2015 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เทศบาลขอนแก่น 5 แห่ง ร่วมมือกับภาคเอกชนสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) โดยภาคเอกชนร่วมทุ่มงบจัดตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อดำเนินการเอง ก่อนจะผลักดันให้เป็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(IFF) ประจำจังหวัดขอนแก่น และเตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ต่อไป หวังลดภาระใช้งบประมาณจากทางภาครัฐบาล ขณะที่บมจ.ช.ทวี ดอลลาเซียน(CHO)คาดหวังได้งานผลิตรถไฟระบบรางเบา(TRAM)รวมงานซ่อมบำรุงของเทศบาลขอนแก่น

นายธีรศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ครั้งที่ 1/2558 มีการเสนอเพื่อรับทราบแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขอนแก่นและโครงการศึกษาออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบรถโดยสารด่วนพิเศษต้นแบบในภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นสายสีแดง(สำราญ-ท่าพระ)โดยให้จังหวัดขอนแก่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม

พร้อมกันนี้ อนุมัติให้ให้ สนข.ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารกับการขนส่งระบบรางเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ศึกษาสายสีแดงในการเปลี่ยนเป็นระบบรางเบา Tram, และศึกษาถึงรูปแบบการลงทุนของเอกชนที่จะเข้ามาร่วม พร้อมศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ทางกลุ่มเทศบาลที่แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง(สำราญ-ท่าพระ) จะพาดผ่านทั้งสิ้น 5 เทศบาล จะร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมาเพื่อรับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยงบประมาณในการลงทุนอาจจะมาจากภาคเอกชนที่รวมตัวกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่าบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) หรือเป็นการร่วมทุนกับทางบริษัทที่เทศบาลจัดตั้งขี้นมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผลการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่

"กลุ่ม KKTT สนับสนุนงบประมาณการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อลดภาระในการใช้งบประมาณจากทางภาครัฐฯ ให้น้อยที่สุด ซึ่งในอนาคตจะมีการผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานประจำจังหวัดขอนแก่น และเตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยในลำดับต่อไป"นายธีรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHO กล่าวว่า ระบบรางเบาจะมีการประกอบและผลิตขึ้นเองภายในประเทศ โดยบริษัทจะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานของโครงการนี้ลดลง ประกอบกับโครงการดังกล่าวจะนำเรื่อง Transit Oriented Development (TOD) หรือการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟฟ้าพาดผ่านเข้ามาร่วมคำนวณความเป็นไปได้ของโครงการอีกด้วย

"หากเราสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานของโครงการและศึกษาแนวทางเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าพาดผ่านนั้น จะช่วยทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ในเชิงพานิชย์สูงขึ้นโดยภาระของภาครัฐจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาประเทศในด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 12 เดือน"นายสุรเดช กล่าว

นายสุรเดช เชื่อมั่นว่าบริษัทมีความพร้อมในการผลิตรถไฟระบบรางเบา เพื่อใช้สำหรับโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีประสบการณ์ในการผลิตยานพาหนะ รวมถึงงานซ่อมบำรุงในระบบขนส่ง และระบบรางมาอย่างยาวนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ