(เพิ่มเติม1) UPA เซ็นซื้อ"อันดามันเพาเวอร์ฯ"คาดโอนหุ้นส.ค.,หนุน Q4/58 พลิกมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 25, 2015 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) แจ้งว่าวันนี้บริษัทเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญในบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU) โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้และจะมีการรับโอนหุ้นสามัญของ APU จากผู้ขาย และมีการชำระเงินค่าซื้อหุ้นสามัญได้ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาซื้อขายหุ้นได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงครบถ้วนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนส.ค.58 ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผลประกอบการไตรมาส 4/58 พลิกมีกำไรสุทธิได้ แต่ยังไม่มั่นใจว่าทั้งปี 58 จะพ้นขาดทุนหรือไม่

สำหรับเงื่อนไขสำคัญตามสัญญาซื้อขายหุ้น APU ได้แก่ หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดของ APU ได้รับการจองซื้อ และ APU ได้จดทะเบียนการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว ,ผู้ขายได้ดำเนินการให้ APU และ Star Sapphire Co., Ltd. ลงนามใน side agreement ซึ่งกำหนดให้ Star Sapphire Co., Ltd. จะต้องทำการส่งมอบเงินที่ได้รับจากรัฐบาลเมียนมาร์ ไปยัง APU ภายในระยะเวลาที่กำหนดใน side agreement ,APU ได้ชำระเงินคืนเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นของ APU เรียบร้อยแล้ว

APU ได้แสดงหลักฐานในรูปแบบที่บริษัทพึงพอใจว่า ได้มีการเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าแล้ว และไม่มีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของสัญญาเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้า และซื้อขายไฟฟ้ากระทำการผิดสัญญา หรือมีความรับผิด รวมถึงไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายภายใต้สัญญาดังกล่าว ,บริษัทได้รับการอนุมัติให้เข้าทำการซื้อหุ้นสามัญจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อฐานะทางการเงิน ทรัพย์สิน และธุรกิจของ APU

อนึ่ง APU เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในเมียนมาร์ โดยตามแผนจะลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ จำนวน 3 เฟส โดยเฟสแรก เป็นโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ การลงทุนเฟส 2 โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 59 ส่วนการลงทุนในเฟส 3 โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่ทางบริษัทจะเจรจาทำความตกลงกับทางรัฐบาลเมียนมาร์ในปี 60

นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ UPA กล่าวว่า การเข้าลงทุนในอันดามันเพาเวอร์ฯ จะเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการลงทุนธุรกิจพลังงานในประเทศเมียนมาร์ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าในเฟสแรกได้เดินเครื่องและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่รัฐทะนินทายีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว "ถือเป็นก้าวสำคัญของ UPA ที่จะก้าวเข้าสู่การลงทุนธุรกิจพลังงานเต็มตัว รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้ UPA ได้เข้าไปลงทุนธุรกิจพลังงานในเมียนมาร์ ซึ่งมีโครงการโรงไฟฟ้าอีกหลายแห่งในอนาคต เพื่ออนาคตที่มั่นคง แข็งแกร่ง และสร้างรายได้ ผลตอบแทนที่ดีให้แก่บริษัท และผู้ถือหุ้น ของบริษัท UPA"นายนพพล กล่าว

ด้านนายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ กล่าวว่า โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ ถือเป็นความร่วมมือและการลงทุนด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเป็นโครงการแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งการที่ UPA เข้ามาซื้อหุ้นครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการลงทุนของ UPA ด้านพลังงานประเทศเมียนมาร์ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมียนมาร์ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาร์ ทวายจึงจะเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคและแหล่งลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพสูงของกลุ่มอาเซียน

นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาร์ยังมีโครงการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าอีกกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเร็วๆนี้ ซึ่ง UPA จะมีโอกาสอย่างสูงในการเสนอตัวเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว

*Q4/58 พลิกมีกำไรแต่ทั้งปีไม่มั่นใจพ้นขาดทุน

นายนพพล คาดว่าบริษัทจะเข้าไปถือหุ้นในอันดามัน เพาเวอร์ฯไม่น้อยกว่า 75% ซึ่งภายหลังการโอนหุ้นแล้วเสร็จก็จะสามารถรับรู้รายได้จากบริษัทดังกล่าวเข้ามาในช่วงไตรมาส 3/58 เป็นต้นไป ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลประกอบการของบริษัทมีกำไรในไตรมาส 4/58 แต่ยังไม่มั่นใจว่าทั้งปีนี้จะสามารถพลิกกลับมากำไรได้หรือไม่ จากทั้งปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 64.63 ล้านบาท ขณะที่เชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจะช่วยทำให้บริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 303.13 ล้านบาทได้โดยเร็ว

"บริษัทมีความมั่นใจว่าบริษัทจะค่อยพลิกฟื้นจากขาดทุนสะสมมายาวนาน แต่จะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากเราเข้าถือหุ้นอันดามัน เพาเวอร์ฯ หลังเสร็จสิ้น ก็จะสามารถสร้างรายได้ที่แข็งแรง โดยทางอันดามัน เพาเวอร์ฯ สามารถเริ่มจ่ายไฟและรับรู้รายได้เข้ามาแล้ว และรายได้ก็จะถูก book รวมเข้ามาใน UPA ในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไปที่จะเห็นความชัดเจนขึ้น ขณะที่เงินลงทุนไม่มีปัญหา โดยหุ้นอันดามัน เพาเวอร์ฯที่อยากจะได้รับไม่น้อยกว่า 75% บริษัทก็มีการวางเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่ำ 300 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับอันดามัน เพาเวอร์ฯด้วยว่าจะจัดสรรหุ้นให้เราเท่าไหร่ โดยคาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะแล้วเสร็จสิ้นกระบวนการได้"นายนพพล กล่าว

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ UPA อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นอันดามัน เพาเวอร์ฯ จำนวน 1 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 100 บาท และหุ้นสามัญที่ Andaman Power จะเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,400,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท มีมูลค่าเงินลงทุนเป็นจำนวน 340 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ Andaman Power จำนวน 10 ราย

นายนพพล กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าในทวายของอันดามัน เพาเวอร์ฯ เริ่มจ่ายไฟฟ้าแล้วในเฟสแรก ประมาณ 6 เมกะวัตต์ ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามา 20 ล้านบาท/เดือน และกำไรประมาณ 2-3 ล้านบาท/เดือน ส่วนการผลิตให้เต็ม 20 เมกะวัตต์สำหรับเฟสแรกเมื่อใดนั้น ขั้นกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและปริมาณก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์ แต่ยังเชื่อว่าเมียนมาร์ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงไฟฟ้าในเฟสแรกยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 50 เมกะวัตต์ในอนาคตด้วย สำหรับโรงไฟฟ้าเฟส 2 จะมีขนาดกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ภายในปีนี้ และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายใน 2 ปีจากนี้ ขณะที่บริษัทคาดหวังว่าจะให้ธุรกิจพลังงานเป็นรายได้หลักให้บริษัทในระยะยาว โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 63 ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าของอันดามัน เพาเวอร์ฯ ,โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

"พม่ายังมีช่องว่างอีกมากในการเข้าไปลงทุนจากปัจจุบันพม่ามีเพียง 3,000 เมกะวัตต์ และมีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยนิดเดียว ซึ่งมองว่ายังมีโอกาสมากกว่าแข่งขัน และแนวโน้มของพลังงานเป็นโอกาสที่ดีมากที่บริษัทจะเข้าไปลงทุน และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ยาวนานกว่าเดิม น่าจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยบริษัทคาดหวังว่าธุรกิจพลังงานจะมีสัดส่วนรายได้เข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิม และตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตในธุรกิจพลังงานทุกประเภท 500 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี"นายนพพล กล่าว

นายนพพล กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจซอฟท์แวร์นั้น ยังมองหาแนวทางที่จะนำซอฟทฺแวร์ใหม่ๆเข้ามาพัฒนา และยังคงมองถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะโอนกรรมสิทธิให้แล้วเสร็จได้ภายในไตรมาส 3/58 นี้ จากปัจจุบันติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตการเปิดใช้อาคาร ซึ่งต้องรอให้หน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนของโครงการในทุกๆโครงการบริเวณเขาใหญ่ให้แล้วเสร็จก่อน ขณะที่คาดว่จะมีกำไรจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เขาใหญ่ราว 50 ล้านบาทภายในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าซื้อที่ดินใน จ.พังงา จำนวน 19-20 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบใด โดยมองว่าทั้งสองธุรกิจยังคงมีการดำเนินงานต่อเนื่อง แต่อาจจะยังไม่มีผลกำไรเข้ามามากจนส่งผลต่อภาพรวมทั้งปี ทำให้คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะยังไม่แข็งแรงมาก แต่เชื่อมั่นว่าระยะยาวทั้งรายได้และกำไรน่าจะเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ