AOT ทุ่ม 1.3-1.4 แสนลบ.ใน 5 ปีพัฒนาสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองรับผู้โดยสาร 120 ล้านฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 29, 2015 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)หรือ ทอท.เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 1.3-1.4 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีจากนี้เพื่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นงบพัฒนาขยายท่าอากาศยานดอนเมือง คาดว่างานก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 63 เบื้องต้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารรวมกันได้ถึง 120 ล้านคน/ปีไปจนถึงปี 74

จากนั้นในระยะต่อไปยังสามารถขยายเพิ่มขึ้นอีกเพื่อรองรับผู้โดยสารเป็น 130-135 ล้านคน/ปี โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 80-95 ล้านคน/ปี ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองจะรองรับเพิ่มเป็น 40 ล้านคน/ปี

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ให้ AOT นำแผนแม่บทเดิมที่บริษัทเคยทำไว้ไปปรับปรุงใหม่ เนื่องจากแผนเดิมเป็นการรองรับนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นที่กำหนดให้เป็น Single Airport แต่ปัจจุบันรัฐบาลชุดปัจจุบันปรับเปลี่ยนนโยบายเป็น Dual Airport จึงจะปรับแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองแล้วนำมารวมกัน แต่ยังเป็นการรองรับจำนวนผู้โดยสารเท่าเดิมคือ 120 ล้านคน คาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.59 จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไปก่อนเริ่มก่อสร้างในปี 60

"เมื่อ 2-3 ปีเราใช่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง จากแผนเดิมที่เราใช้สนามบินเดียวคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ก็วางแผนขยายรองรับ 120 ล้านคน แต่เมื่อมาใช้ Dual Airport กระทรวงคมนาคมก็ให้มา Revise แผนแม่บท ซึ่งก็ต้องตัดเฟส 3 และ 4 ออกไป"นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้ได้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 สำหรับบริการผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ และกำหนดเปิดให้บริการราวปลายเดือน ก.ย.58 ส่วนแผนปรับปรุงอาคาร 1 เพื่อใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และทางเชื่อมทั้ง 2 อาคารนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 61 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้สูงถึง 40 ล้านคน/ปี โดยจะเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเชื่อมต่อเข้ามายังท่าอากาศยานดอนเมือง

ขณะที่การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 นั้น ขณะนี้บริษัทจะเริ่มจัดหารผู้รับเหมาก่อสร้าง 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1, กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร และงานระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะใช้เวลา 9 เดือน และจะเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.59 โดยงานจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 62 ใช้งบลงทุน 5.6 พันล้านบาท ซึ่งปรับลดลงมาจากราว 6 พันล้านบาท และคาดว่าจะปรับเพิ่มอีก หรือลดลงมาที่ 5.2-5.5 พันล้านบาท เนื่องจากราคาปูนและราคาเหล็กปรับตัวลง

รวมทั้ง กลุ่มงานโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 มูลค่าลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการก่อสร้างก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใช้งบ 2.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 63

ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไปถึง 70% ซึ่งเร็วกว่าแผน และคาดว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจะแล้วเสร็จและกำหนดเปิดบริการ 14 ก.พ.59 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน จากเดิม 6.5 ล้านคน หลังจากนั้นก็จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเกิมเป็นผู้โดยสารในประเทศต่อไป

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในงวดปี 57/58(ต.ค.57-ก.ย.-58)นั้น นายนิตินัย กล่าวว่า ช่วง 8 เดือนแรกของงวดปีนี้(ต.ค.57- พ.ค. 58) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหารของ ทอท.มีปริมาณเที่ยวบิน 471,499 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.43% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 243,213 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 7.49% และเที่ยวบินภายในประเทศ 228,286 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18.23%

ด้านจำนวนผู้โดยสารช่วง 8 เดือนแรกอยู่ที่ 72,158,970 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.58% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 41,657,818 คน เพิ่มขึ้น 16.50% และผู้โดยสารภายในประเทศ 30,501,152 คน เพิ่มขึ้น 20.06 โดยมีผู้โดยสารชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย เดินทางมาใช้บริการมากสุด ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากปริมาณการจราจรดังกล่าวแบ่งสัดส่วนการให้บริการได้ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 49.6% ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต , ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย 26.1%, 12.0%, 7.5%, 3.3% และ 1.5% ตามลำดับ

นายนิตินัย ยังคาดว่า จำนวนผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตใกล้เคียงในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโต 18% ทั้งปี 58 คาดว่ารายได้เติบโต 18% ตามจำนวนผู้โดยสาร โดยสัดส่วนจากธุรกิจการบิน 60% และจากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non Aero) มีสัดส่วน 40%

นายนิตินัย กล่าวว่า ระหว่างนี้บริษัทพิจารณาพื้นที่ ท่าอากาศยานดอนเมืองที่เป็นคลังสินค้า 3-4 มาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและหาผู้ประกอบการร่วมทุน และจะพิจารณาที่ดินแปลง 37 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืนจะนำไปใช้เชิงพาณิชย์ไม่ได้ จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการหารือ 4 ฝ่าย คือ กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ทั้งสองรายเป็นเจ้าของพื้นที่ กรมธนารักษ์ และ ทอท.เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดการนำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ