ECF เล็งซื้อโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเพิ่ม 5-10MW,คาดโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมทุนมูลค่ากว่า 7.2 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 1, 2015 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค(ECF)เดินหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นที่มีการผลิตไฟฟ้าแล้วเพิ่มอีก 5-10 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุดผู้ขายได้เสนอราคาขายค่อนข้างแพง ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นจะแพงกว่าในไทยราว 2 เท่า เนื่องจากค่าแรงสูง

ขณะที่ความคืบหน้าการเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์(COD) ของโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 1.5 เมกะวัตต์ ปัจจุบันใกล้จะติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แผงแรกแล้ว แต่คงต้องเลื่อนการ COD ออกไปเล็กน้อยเป็นช่วงเดือน ต.ค.จากเดิมที่คาดว่าจะ COD ได้ประมาณเดือน ก.ย.เนื่องจากติดปัญหาทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว คาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 16 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ระดับ 8-10%

ส่วนการเข้าร่วมทุนกับ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) และพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อทำโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ร่วมทุนมีเป้าหมายที่จะยื่นเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 120 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนทั้งโครงการราว 7,200 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงละ 8-9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแต่ละโรงสร้างรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท/ปี โดยผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ที่ระดับ 12-15%

ด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทนั้น ไตรมาส 2/58 คาดว่าจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าไตรมาส 1/58 ตามทิศทางกำลังซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายอารักษ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐในการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Biding (FiT- biding) ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้น 1-2 เดือนบริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมาก็จะยื่นเข้าประมูล

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในเดือนก.ค. โดยสัดส่วนการร่วมทุนจะเป็นของ ECF สัดส่วน 25% , FPT สัดส่วน 25%, บริษัท วิชญ์ อุตสาหกรรม จำกัด สัดส่วน 25% และบริษัท ทริปเปิ้ล พี แอดไวซอรี่ จำกัด (TRIPLE P) ถือหุ้น 25% โดย TRIPLE P ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการโรงไม้ โรงเลื่อย จำนวน 15 โรง ซึ่งจะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลดังกล่าว

สำหรับเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมาจากเงินกู้ 70-80% และส่วนทุน 20-30% โดยขณะนี้ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินแล้ว 2-3 แห่ง คาดว่าจะได้แหล่งเงินครบถ้วน และการลงทุนในโครงการนี้มีที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาโครงการให้เป็นอย่างดี ขณะที่ไม่ต้องกังวลต่อปริมาณวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีพันธมิตรในกลุ่มโรงไม้หรือโรงเลื่อยที่สามารถส่งวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอ โดยประเมินว่าโรงไฟฟ้าขนาด 8-9 เมกะวัตต์จะใช้วัตถุดิบประมาณ 300 ตันไม้/วัน ซึ่งผู้ประกอบการโรงเลื่อยจะสำรองวัตถุดิบไว้ไม่ต่ำกว่า 450 ตันไม้/วันในช่วงฤดูฝน ขณะที่ฤดูแล้งจะมีวัตถุดิบกว่า 600 ตันไม้/วัน คาดว่าจะมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นไม่น้อยกว่า 10-15%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ