กทค.พิจารณาร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz พรุ่งนี้ ปรับลดราคาตั้งต้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday July 5, 2015 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ว่าในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 14/2558 ช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา วาระนี้นับเป็นประเด็นร้อนที่ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เฝ้ารอและจับตาอย่างลุ้นระทึกว่า หลักเกณฑ์การจัดประมูลและเงื่อนไขการให้อนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นี้จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ สำหรับคลื่นที่จะมีการนำออกประมูลจะมีขนาด 2 X 12.5 MHz จำนวน 2 ชุด โดยประเด็นสำคัญในเรื่องการกำหนดมูลค่าและราคาตั้งต้นในการประมูล ยังคงอ้างอิงมูลค่าและราคาตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้เคยเสนอไว้ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นในปีที่แล้ว ดังนั้น ชุดคลื่นที่จะมีการนำออกประมูลในครั้งนี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการอนุญาต 18 ปี จึงมีมูลค่าประมาณ 16,571 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขณะที่การกำหนดราคาตั้งต้นจะมีการปรับลดมูลค่าคลื่นลง 30 %เหลือ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่

อย่างไรก็ดี ในการเตรียมการจัดประมูลหนนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่นความถี่ที่นำออกประมูล ก็จะกำหนดราคาตั้งต้นเท่ากับมูลค่าคลื่นที่มีการประเมินไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องไม่มีการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ไปได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อสังเกตว่า ในการประเมินมูลค่าคลื่นของ ITU ในการเตรียมการจัดประมูลหนที่แล้ว ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูว่าประเมินมูลค่าคลื่นไว้ต่ำเกินไป เพราะหากเปรียบเทียบกับมูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ของประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกหลังปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G นั้น มูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ที่จะนำออกประมูลในครั้งนี้ควรอยู่ในราว 20,100 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่

สำหรับเรื่องเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่าย หลักเกณฑ์ที่นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ยังคงกำหนดไว้ที่ 40 % ของประชากรภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่ากำหนดไว้ค่อนข้างต่ำและอาจทำให้การใช้งานคลื่นไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากถูกใช้งานในพื้นที่จำกัดและไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนการเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อกำหนดเรื่องการถือครองคลื่นสูงสุด (Overall Spectrum Cap) ไว้ที่ 60 MHz นั้น พบว่าขาดการประเมินอย่างครบถ้วนว่าปัจจุบันคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีผู้ให้บริการรายใดครอบครองอยู่บ้าง เพราะที่สำนักงาน กสทช. ประเมินเป็นการพิจารณาเพียงคลื่นย่าน 800 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, และ 2100 MHz เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาถึงการถือครองคลื่นย่าน 2300 MHz และ 2600 MHz ร่วมด้วย ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ย่านที่จะมีการจัดสรรในอนาคต ดังนั้นหากขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยภาพรวมได้

ส่วนวาระการนำส่งเงินรายได้ของบมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ.ทีโอที (TOT) เข้ารัฐนี้น ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 83 วรรคสาม กำหนดว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หลังหักใช้จ่าย ให้นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวกับ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป ซึ่งกำหนด 3 ปีนั้นครบแล้วเมื่อ 20 ธันวาคม 2556 แต่กระทั่งปัจจุบันทั้ง CAT และ TOTก็ยังมิได้นำส่งเงินรายได้มายังสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. เคยทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเมื่อธันวาคม 2556 เพื่อสอบถามว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายได้ที่รัฐวิสาหกิจทั้งสองรายต้องนำส่งด้วยหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังมีหนังสือตอบกลับว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย ส่วนขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่นำส่งรายได้ให้ กสทช. และ กสทช. มีหน้าที่นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป รวมทั้ง กสทช. มีหน้าที่ในการตรวจสอบการนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. พยายามยืนกรานมาโดยตลอดว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายระบุให้นำส่งเงินผ่าน กสทช. เท่านั้น อันหมายถึง กสทช. จะรับและนำส่งให้กระทรวงการคลังในลักษณะส่งผ่าน โดยไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรายได้และค่าใช้จ่ายจากผลประกอบการดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งอ้างความเห็นของคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงาน กสทช. ร่วมด้วย ว่าควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องตรวจสอบ ในการประชุม กทค. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมจึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือสอบถามกระทรวงการคลังอีกครั้งถึงความชัดเจนของบทบาทและอำนาจหน้าที่ แต่หนนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลัง

สุดท้ายเรื่องนี้จึงยังคงสาละวนอยู่กับประเด็นที่ว่าหน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเงินรายได้จำนวนดังกล่าวกันแน่ แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงว่า หากรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายไม่นำส่งเงินรายได้ตามกฎหมาย หน่วยงานใดจะเป็นฝ่ายไล่เบี้ย ซึ่งในขณะนี้ก็ล่วงเลยเวลามาปีกว่าแล้วที่ทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ยังมิได้นำส่งเงินรายได้เข้ารัฐตามกฎหมายแม้สักบาทเดียว

นอกจากนี้มีวาระเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่หลายกรณีมีอุทาหรณ์ที่น่าสนใจ และยังมีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจคือเรื่องการจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังมีวาระที่ตกค้างจากการพิจารณาในการประชุมครั้งที่แล้ว คือเรื่องแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับประกอบกิจการโทรคมนาคม และเรื่องรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ส่วนวาระร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ปรากฏว่าในการประชุมครั้งก่อนมีการถอนวาระนี้ออกไปโดยที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ทั้งที่ร่างประกาศฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2558 และได้รับการบรรจุเป็นวาระการประชุมมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซ้ำในการประชุมครั้งนี้กลับไม่มีการบรรจุวาระดังกล่าวกลับเข้ามาแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ