SAMART ปรับภาพลักษณ์สู่ยุคดิจิตอล,สรุปจับมือโอเปอเรเตอร์บุกพม่า Q3/58

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 7, 2015 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART)เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ไปสู่ยุคDigital ด้วยการ Re-Positioning และ Re-Branding เพื่อให้เข้ากับตลาดยุคใหม่ หลังจากที่บริษัทได้ทำการสำรวจความคิดเห็นและมุมมองต่อกลุ่ม SAMART เกี่ยวกับจุดแข็งจุดอ่อนเพื่อนำมากำหนดแนวทางธุรกิจในช่วงต่อจากนี้

ทั้งนี้ บริษัทยอมรับว่าผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่สดใสมากนัก โดยเฉพาะ บมจ.สามารถไอโมบาย(SIM)ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ยอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือลดลงจากประมาณการ แต่คาดว่าในไตรมาส 2/58 จะทำรายได้ดีกว่าไตรมาส 1/58 แต่ก็ยังต่ำกว่าไตรมาส 2/57 ที่มียอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือกว่า 1 ล้านเครื่อง

ดังนั้น บริษัทจึงปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และเปลี่ยน Logo ของ ไอ-โมบาย พร้อมเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับลูกค้า มากขึ้น โดยจะใช้งบการตลาดราว 100 ล้านบาท พร้อมทั้งรับผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาช่วยปรับปรุงระบบงานหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งการให้บริการ ซึ่งจะมีบริการซื้อขายออนไลน์ที่ร่วมกับพันธมิตรทางธูรกิจ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย และจัดโปรโมชั่นครั้งใหญ่เพื่อช่วยผลักดันยอดขาย ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากที่ออกแคมเปญในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ SIM ยังคงเป้าหมายยอดขาย 4 ล้านเครื่อง โดยจะเป็นยอดขายในประเทศราว 3 ล้านเครื่อง และจะมียอดขายจากต่างประเทศอีก 1 ล้านเครื่อง ที่จะเข้ามาชดเชยยอดขายในประเทศที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากตลาดพม่าและตะวันออกกลาง ขณะที่บริษัทเตรียมร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยื่นข้อเสนอต่อทางการพม่าในการทำตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่าจะรู้ผลไม่เกินไตรมาส 3/58

"หากได้รับการอนุมัติ SIM ก็จะไม่ใช่ขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีช้อปไอโมบายในย่างกุ้งแล้ว"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ส่วน บมจ.สามารถเทเลคอม(SAMTEL) คาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องงานภาครัฐทยอยเปิดประมูล และมีงานที่รอเซ็นสัญญาอยู่กว่า 5 พันล้านบาท ด้าน SAMTEL ยังขยายฐานลูกค้าใหม่ในรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนในงาน ICT Solution เพิ่มขึ้นด้วย

ในด้านธุรกิจพลังงานนั้น นายวัฒน์ชัย คาดว่าปีนี้จะลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ 5 แห่ง โดยแห่งแรกที่เชียงใหม่ที่ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟเข้าสู่ระบบได้ในปี 60 ส่วนอีก 4 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะขนาดกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ลงทุนแห่งละ 1,000 ล้านบาท รวมใช้เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท โดยในปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือน ส.ค.นี้คาดว่าจะสรุปการลงทุนได้ 1-2 แห่ง

ขณะที่ความคืบหน้าการเจรจาขายไฟโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ในกัมพูชา ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นั้น คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้จะยื่นข้อเสนอราคาขายไฟต่อกฟผ. ขณะเดียวกันก็รอผลจัดหาเงินลงทุนของโครงการที่มีมูลกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบกับมีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้ความสนใจเข้าร่วมทุน โดยคาดว่าการเจรจาจะยุติได้ภายในปีนี้ แต่อาจจะเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 2 แห่ง มีขนาดแห่งละกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะได้ผลการศึกษาในส.ค.นี้ โดยจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น

นายวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยจะขอรอดูอีก 1-2 เดือนก่อนจะค่อยทบทวนเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยปีนี้จะมีรายได้ประจำ 25-30% ซึ่งมาจาก SAMTEL ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้ประจำสัดส่วน 50% ในช่วง 5 ปีนี้ ขณะที่ช่วงครึ่งแรกปีนี้สามารถขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้แล้ว 1 ล้านกล่อง โดย 2-3 เดือนที่ผ่านมาสามารถขายได้เดือนละ 2 แสนกล่อง ทำให้คาดว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังการขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจะยังคงดีต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ