UPA มั่นใจ Q4/58 มีกำไรจากรับรู้รายได้ APU, ล้างขาดทุนสะสม 303 ลบ.หมดปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 17, 2015 09:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) คาดว่าจะล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด 303 ล้านบาทภายในปี 60 ซึ่งจะมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นตามลำดับ หลังการเข้าซื้อหุ้นบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU) ซึ่งทำธุรกิจไฟฟ้าที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนก.ค.และจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานกลับมามีกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ขณะที่ APU คาดว่าจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) จากรัฐบาลเมียนมาร์เพิ่มเติมอีก 200 เมกะวัตต์(MW) ใน 2 เดือนข้างหน้า และยังเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อทำโรงไฟฟ้า 30 MW ป้อนโครงการทวายด้วย

นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ UPA กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/58 เป็นต้นไปจะมีผลการดำเนินกลับมาเป็นกำไรได้ โดยจะรับรู้รายได้ของ APU เข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/58 หลังการเข้าซื้อหุ้น APU จำนวน 93% จะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนนี้ โดยปัจจุบัน APU มีรายได้จากการขายไฟฟ้ากำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 2.5 แสนล้านเหรียญ/เดือน หรือราว 7 ล้านบาท/เดือน ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิ 15 %

ขณะที่บริษัทยังจะบันทึกกำไรจากยอดโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เขาใหญ่อีกกว่า 50 ล้านบาท รวมไปถึงในช่วงปลายปีจะพิจารณาแบ่งขายที่ดินเปล่าบางส่วนที่จังหวัดพังงา ซึ่งมีอยู่กว่า 19-20 ไร่ด้วย นอกจากนี้ในส่วนธุรกิจเดิมก็จะเปิดตัวซอฟแวร์ใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 3/58 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพัฒนากลุ่มธุรกิจเดิมให้มียอดขายกลับมาอยู่ในระดับที่ดีอีกครั้ง

"เราคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 303 ล้านบาทได้หมดภายในปี 60 โดยจะนำกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่มาล้างขาดททุนสะสมดังกล่าว"นายนพพล กล่าว

ด้านนายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APU กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ จากรัฐบาลเมียนมาร์ภายใน 2 เดือนนี้ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 240-250 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 60 ส่วนที่เงินลงทุนจะมาจากเงินกู้โครงการ (project finance) จากสถาบันทางการเงินภายในประเทศ

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อทำโรงไฟฟ้า ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์เพื่อใช้ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน1-2 เดือนนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะมีลักษณะการติดตั้งเหมือนโรงไฟฟ้าเฟส 1 ที่ได้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 6 เมกะวัตต์

"เราได้ COD มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เป็นโครงการชั่วคราว เพื่อช่วยให้ทวาย และรัฐทะนินทายี มีไฟฟ้าใช้อย่างเสถียรและถาวรขณะที่ปีนี้เราตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 30 เมกะวัตต์ ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีการเซ็น MOA กับรัฐบาลพม่า คาดว่าจะได้ PPA กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์เร็วๆนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้ และน่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างราว 2 ปี วางงบลงทุนไว้ประมาณ 240 ล้านเหรียญ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจาก UPA ที่เข้ามาซื้อหุ้น รวมถึงจะมาจากแหล่งเงินกู้ด้วย"นายอุปกิต กล่าว

นายอุปกิต กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่าการศึกษาและเจรจาเงื่อนไขสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเฟส 3 กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จไม่เกินปี 60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ