(เพิ่มเติม) UWC คาดกำไรปี 59 โตมากจากปีนี้,ซื้อรฟฟ.เพิ่มหลังถือ 60%"พาราไดซ์กรีนฯ"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 31, 2015 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีรทัศน์ ธนรัชต์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอื้อวิทยา (UWC) คาดว่ากำไรสุทธิปี 59 จะเติบโตก้าวกระโดดจากปีนี้ ตามรายได้ที่คาดว่าจะเติบโต 50-60% จากราว 1 พันล้านบาทในปีนี้ ขณะที่กำไรในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามแผนการจะซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะมีความชัดเจนในเดือนก.ย.ราว 4-5 โรง หลังจากที่ปัจจุบันได้เข้าถือหุ้น 60% ในบริษัท พาราไดซ์ กรีนเอนเนอยี่ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวล และโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งจะรับรู้รายได้ทันทีในเดือนก.ค.58

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปีนี้จะยังคงมาจากธุรกิจหลักเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ประมาณ 700ล้านบาทเท่ากับปีก่อน ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาอีกประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากรายได้ของพาราไดซ์ กรีนเอนเนอยี่ ในจ.ขอนแก่น ที่มีการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จำนวน 100 ล้านบาท ส่วนอีก 200 ล้านบาทจะเป็นรายได้ที่มาจากการจะเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 4-5 โรง กำลังการผลิตโรงละ 8-9 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตอยู่แล้วทำให้สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที

"รายได้ครึ่งปีแรกของปีนี้น่าจะใกล้เคียงปีก่อน เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก ปัจจุบันมีงานในมือเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักอยู่ 1.3-1.4 หมื่นต้น ก็จะทยอยส่งมอบ ซึ่งปีนี้จะส่งมอบประมาณ 700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงานใหม่ที่รับเข้ามาเพิ่ม เช่น งานของเด็มโก้ 440 ล้านบาท ก็จะทยอยส่งมอบปีนี้ถึงปีหน้า"นายพีรทัศน์ กล่าว

นายพีรทัศน์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงน่าจะค่อยๆขยายตัว แต่ไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้บริษัทหันไปสนใจลงทุนธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น โดยในปี 59 บริษัทตั้งเป้าหมายมีโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 8-12 โรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อกิจการหรือการเข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งบริษัทต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และซื้อโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วเพื่อสามารถรับรู้รายได้ได้ทันที ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้กำไรสุทธิในปี 59 เติบโตก้าวกระโดด เพราะธุรกิจโรงไฟฟ้ามีผลตอบแทนที่สูง เพราะสามารถจัดหาวัถตุดิบได้เอง รวมถึงยังจะรับรู้รายได้จากการลงทุนในพาราไดซ์ฯ อีก 300 ล้านบาทในปี 59 ด้วย

โดยโรงไฟฟ้าที่จะเข้าไปซื้อหรือร่วมลงทุนนั้น คาดว่าจะมีกำลังการผลิตราว 9 เมกะวัตต์/แห่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท/แห่ง ซึ่งจะมาจากเงินเพิ่มทุน 1,250 ล้านบาท ขณะที่บริษัทยังมีศักยภาพในการกู้แบงก์เนื่องจากเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ รวมถึงยังมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) ที่เชื่อว่าจะมีผู้ถือหุ้นมาแปลงสภาพวอร์แรนต์จำนวนหนึ่งด้วย เพราะมั่นใจในธุรกิจของบริษัทมากขึ้น

ปัจุจบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่งในภาคใต้ ขนาด 9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 3/58 และโรงไฟฟ้าของพาราไดซ์ฯ ที่จ.ขอนแก่น ที่มีการผลิตแล้ว 1 เมกะวัตต์

การเข้าลงทุนถือหุ้นสัดส่วน 60% ในบริษัท พาราไดซ์ กรีนเอนเนอยี่ จำกัด ร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ที่ถือหุ้นอยู่ 40% นั้น จะมุ่งเน้นการแปรรูปพืชพลังงานเพื่อส่งให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มบริษัททั้งหมด และส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากโครการนี้ได้ทันที ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป

"หลังจากที่เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล มีความผันผวนทั้งในด้านราคาและปริมาณที่จัดหาได้ ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจทั้งด้านเชื้อเพลิงและด้านเทคนิค ในการผลิตไฟฟ้า ทาง UWC มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการผลิตไฟฟ้า จึงได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นหลัก และขยายธุรกิจด้านพืชพลังงาน เพื่อเป็นเชื้อเพลงที่มั่นคงพึงพาตนเองได้ และจะขยายธุรกิจตามแผนการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กระยตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน"นายพีรทัศน์ กล่าว

นายพีรทัศน์ กล่าวว่า การลงทุนในพาราไดซ์ กรีนเอนเนอยี่ ครั้งนี้ ทำให้บริษัทก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวล และแปรรูปพืชพลังงานครบวงจร ตั้งแต่การเพาะต้นพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

โครงการที่ขอนแก่น ได้มีการนำพืชพลังงานมาปลูกและเก็บเกี่ยวมาทำการแปรรูปและใช้เป็นเชื้อเพลิงกว่า 3 ปีแล้ว โดยใช้ต้นเนเปียร์ พันธุ์ปากช่อง 1 ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างดี ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ จึงทำให้สามารถเก็บเกี่ยว 4 ครั้ง/ปี ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้นาน 8-10 ปี

ขณะที่พื้นที่ปลูกปัจจุบันได้ขยายจาก 1,000 ไร่ เป็น 3,500 ไร่ จะสามารถผลิตไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้มีระบบการจัดการที่ทันสมัย และใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดการทั้งระบบ ทั้งการปลูกและเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตดี ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และสร้างขีดความสามารถในการขยายกำลงการผลิตเพื่อความเติบโตในธุรกิจพืชพลังงาน และเชื้อเพลิงชีวมวลต่อไป โดยบริษัทจะขยายพื้นที่ปลูกต่อไป ทั้งในจ.ขอนแก่น และจังหวัดที่กำลังจะมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทเอง

นอกจากนี้ตามแผนธุรกิจ บริษัทจะขยายในพื้นที่กลยุทธ์ที่จะสามารถนำพืชพลังงานมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรืออัดเม็ด เพื่อสามารถจัดเก็บและจัดส่งได้อย่างสะดวก และนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงต่อไปด้วย นายพีรทัศน์ กล่าวถึงกรณีจะเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วนในบมจ.ไดเมท (สยาม) (DIMET)ว่า หลังจากนี้อยู่ที่ขั้นตอนการประชุมผู้ถือหุ้นของ DIMET ว่าผู้ถือหุ้นจะอนุมัติหรือไม่ แต่เห็นว่าการเข้าไปซื้อหุ้นจะเป็นการเอื้อต่อธุรกิจของบริษัท เนื่องจาก DIMET ทำสีกันสนิม ก็สามารถใช้ทาเสาส่งไฟฟ้าได้ แต่หากซื้อไม่ได้ก็จะทำธุรกิจต่อไป โดยเตรียมกลยุทธ์อื่นไว้ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งในและต่างประเทศ แต่คงต้องใช้เวลานานในการศึกษาโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ