(เพิ่มเติม) กสทช.เผยเอกชน 5 รายภายใต้ ADVANC-DTAC-TRUE-JAS เข้ารับเอกสารประมูล 4G

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 28, 2015 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.เปิดให้ผู้สนใจรับเอกสารประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่สำนักงาน กสทช. ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับเอกสารแล้วจำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (บริษัทในกลุ่ม JAS)

หลังจากได้รับเอกสารประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แล้ว ผู้ประกอบการก็จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นซองประมูลในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ขณะที่กรอบเวลาการเคาะราคาประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กำหนดไว้เป็นวันที่ 11 พ.ย.58

ขณะที่การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่มี 2 ใบอนุญาตๆละ 10 MHz อาจจะเปิดประมูลเร็วขึ้นเป็นวันที่ 12 พ.ย.58 จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 15 ธ.ค.58 โดยเลื่อนมาประมูลพร้อมกับคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อให้ปี 58-59 จะสามารถเปิดให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 Mhz ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศ

ทั้งนี้ กสทช.จะจัดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตฯ ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงและให้คำปรึกษาในการกรอกแบบขอรับใบอนุญาต ได้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.58-28 ก.ย.58 ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น.ที่สำนักงาน กสทช. และจัดการประชุมระหว่างเวลา 9.00-16.30 น. ในวันที่ 11 ก.ย.58 - 12 ก.ย.58 ที่สำนักงาน กสทช.

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz มีดังนี้

1.อายุของใบอนุญาตจะมีอายุ 18 ปี โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตในปี 2576 เพื่อให้สอดคล้องกับใบอนุญาตที่จากคลื่นที่จะได้คืนกลับมาภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ที่จะกำหนดอายุใบอนุญาต 15 ปี จะได้สิ้นสุดอายุการอนุญาตพร้อมกัน

2.ราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่อยู่ที่ 19,890 ล้านบาท

3.ราคาเริ่มต้นการประมูลกำหนดไว้ที่ 80% คือราคา 15,912 ล้านบาท โดยในการเคาะราคาประมูล 1 ครั้งจะเพิ่มขึ้น 5% หรือเท่ากับ 796 ล้านบาท

4.หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นจะเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ หรือ 19,890 ล้านบาท และในการประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง คิดเป็น 2.5% ของมูลค่าคลื่นความถี่ หรือเท่ากับ 398 ล้านบาทต่อการเคาะ 1 ครั้ง

5.เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส

6.ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

7.ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และเพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี

8.ไม่มีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Overall Spectrum Cap)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ