RATCH เป้าเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.8 แสนลบ.ปี 61,ดึงพันธมิตรลุยงานตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2015 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.8 แสนล้านบาทในปี 61 จากที่คาด 1.33 แสนล้านบาทในปีนี้ โดยวางเป้าเป็นบริษัทพลังงานครบวงจรในเอเชียแปซิฟิก เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรรายเก่าและรายใหม่ เพื่อร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาโครงการด้านพลังงานในต่างประเทศ

"ภาวะความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่ลดลง ประกอบกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรีจะสิ้นสุดในปี 2568 เป็นแรงกดดันที่ทำให้ต้องปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว การผลักดันให้มูลค่ากิจการเติบโตได้ตามเป้าหมายปีละ 10% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นรวม ขึ้นมาอยู่ในระดับบริษัทพลังงานชั้นนำในภูมิภาคที่ 11.3% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.8%"นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ RATCH กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า การมุ่งสู่บริษัทพลังงานครบวงจรในเอเชียแปซิฟิก เพื่อขยายโอกาสธุรกิจให้มากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกลุ่มที่บริษัทีความเชี่ยวชาญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งรายเดิมและรายใหม่ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ กลุ่มบมจ.บ้านปู(BANPU) ,กลุ่มซีจีเอ็น ของจีน ,กลุ่มบมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW),กลุ่มชูบุอิเล็คทริก และกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) เพื่อร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาโครงการด้านพลังงานในต่างประเทศ

ด้านนายรัมย์ เหราบัตย์ ซึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ RATCH ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ กล่าวว่า การเข้ามารับช่วงต่อในตำแหน่งดังกล่าวนับเป็นความท้าทาย เพราะบริษัทอยู่ในจุดเปลี่ยนจากบริษัทผลิตไฟฟ้าเพื่อไปเป็นบริษัทพลังงานครบวงจร โดยมีเป้าหมายมูลค่ากิจการให้ถึงระดับ 1.8 แสนล้านบาทในปี 61 และเพิ่มเป็น 2.82 แสนล้านบาทในปี 66

แนวทางที่จะดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้จะมี 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร และลดต้นทุน ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ โรงไฟฟ้าที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ,โรงไฟฟ้าที่เริ่มเดินเครื่องจนถึง 5 ปี และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

2.ขยายการลงทุนใหม่ไปในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาสัดส่วนการลงทุนแบบซื้อกิจการ และการลงทุนแบบกรีนฟิลด์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวด้วย

3.บริหารโครงสร้างเงินทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ โดยจะพิจารณาแนวทางที่เป็นประโยชน์จากอัตราส่วนหนี้ที่ต่ำ ในการจัดหาเงินที่มีต้นทุนถูกรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด

4.บริหารทรัพยากรบุคคล มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และสามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และ 5.ยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร

"จะเร่งเดินหน้าภารกิจทั้งด้านการลงทุนให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและติดตามการบริหารสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มูลค่ากิจการเติบโตตามเป้าหมายและบรรลุ 2.82 แสนล้านบาทในปี 66 ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์"นายรัมย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ