(เพิ่มเติม) ผถห. BECL-BMCL ยืดเวลาจัดประชุมใหม่อีก 6 เดือนเพื่อรอครม.อนุมัติควบรวม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 29, 2015 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL) และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ในวันนี้อนุมัติขยายเวลาในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทั้งสองบริษัทออกไปอีก 6 เดือนเพื่อพิจารณาอนุมัติจัดตั้งบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ หลังคาดว่าขั้นตอนภาครัฐอาจจะไม่ทันกำหนดการควบรวมที่ให้เสร็จสิ้นได้ทันภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยการขยายเวลาออกไปได้จะไม่เกินกว่าวันที่ 1 เม.ย. 59

นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการของ BECL กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการควบรวมกิจการนั้นอยู่ระหว่างการร่างสัญญาใหม่ที่แก้ไขโดยสำนักงานอัยการสูงสุด การพิจารณาของรมว.คมนาคม และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาของภาครัฐที่ทางบริษัทไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่ได้ดยู่ในอำนาจของคณะกรรมการทั้งสองบริษัท

แต่หากครม.ยังไม่อนุมัติการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งภายในระยะเวลาที่ได้ขยายแล้วคือไม่เกิน 1 เม.ย.59 นั้น บริษัททั้งสองแห่งก็จะต้องกลับมาดำเนินตามขั้นตอนใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนขออนุมัติจากหน่วยงานรัฐและครม.

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ของ BECL และประธานที่ประชุมในวันนี้ กล่าวว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้วบริษัทสองแห่ง ทั้ง BECL และ BMCL จะหายไป และจะมีบริษัทใหม่เข้ามา ขณะที่คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเข้าเรื่องการควบรวมกิจการของทั้งสองแห่งเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินในการควบรวมกิจการระหว่าง BECL และ BMCL กล่าวว่า หากครม.อนุมัติการควบรวมกิจการแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการทั้งสองบริษัทเพื่อเรียกประชุมผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทร่วมกันอีกครั้งเพื่ออนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใข้เวลาประมาณ 40 วัน และเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้วจะนำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปขอจดทะเบียนบริษัทใหม่ ต่อกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ทุนจดทะเบียนของสองบริษัทรวมกัน และคาดว่าอีก 2-3 วันหลังจากนั้น หุ้นบริษัทใหม่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วยราคาใหม่ได้

นางพเยาว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการควบรวมบริษัทใหม่ได้ก่อนวันที่ 1 เม.ย.59 เงินกำไรสะสมของ BECL ที่มีจำนวน 7,700 ล้านบาทจะกลายเป็นฐานทุนให้บริษัทใหม่ และนำไปคำนวณในราคาบริษัทใหม่ รวมกับแนวโน้มการเติบโตของ BMCL ก็นำไปคำนวณราคาบริษัทใหม่ด้วย

นางพเยาว์ คาดว่าในเดือนต.ค.นี้. ที่ประชุมครม. น่าจะอนุมัติการควบรวมกิจการระหว่าง BMCL และ BECL จากนั้นในเดือนธ.ค.นี้จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท เพื่ออนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าบริษัทใหม่จะตั้งชื่อเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ Bangkok Expressway and Metro PLC (BEM) และคาดว่าหุ้นของบริษัทใหม่น่าจะเข้าซื้อขายได้ประมาณปลายเดือนธ.ค. 58 หรือต้นเดือนม.ค.59 และยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40%ของกำไรสุทธิ

"เรามองโลกในแง่ดี ว่าเราจะได้รับคำตอบเพราะรัฐได้ถามไปหมดแล้ว ที่ใช้เวลา 6 เดือน ตอนนี้เป็นเพียงกระบวนการการควบรวมกิจการ" นางพเยาว์ กล่าว

นางพเยาว์ กล่าวว่า หลังควบรวมกันแล้วสินทรัพย์ของบริษัทใหม่ในปี 59 จะมีจำนวนมากกว่า 1 แสนล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 2/58 มีสินทรัพย์รวมกัน จำนวน 74,767ล้านบาท เนื่องจากในปีหน้าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร(SOE) จะเปิดให้บริการในเดือนก.ค. 59 ซึ่งจะรับรู้เป็นสินทรัพย์อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 2.25 หมื่นล้านบาทที่ทยอยรับรู้ในปีนี้บางส่วน ขณะที่ BMCL จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงในดือน. ส.ค.59 ที่มีรถไฟฟ้าใหม่เข้ามาบันทึกเป็นทรัพย์สิน

ทั้งนี้คาดว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้บริการ รายได้ในบริษัทใหม่จะเติบโต ขณะที่ทางด่วนศรีรัชฯจะมีรายได้เข้ามาเต็มปี ในปี 60 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ 1,800 ล้านบาท ปริมาณจราจรคาดว่ามีจำนวน 1 แสนคัน/วัน รวมทั้งบริษัทใหม่จะสามารถเข้ารับงานเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สายสีชมพู สายสีส้ม สายสีเหลือง

นอกจากนี้ BECL ได้ยื่นขอขยายเวลาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ในเขตเมือง (ส่วนA และB) ที่จะหมดอายุในเดือนก.พ. ปี 63 โดยขอกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขยายเวลาอีก 20 ปี แต่กทพ.ยังไม่เรียกไปเจรจา

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า การควบรวมกิจการจะทำให้บริษัทใหม่มีความเข้มแข็งพร้อมสู้กับคู่แข่งขัน เพราะบริษัทใหม่สามารถควบคุมต้นทุนการเงินและต้นทุนการจัดการได้ดีขึ้น เพื่อให้ได้สัมปทานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับเอกชนแบบ PPP Net Cost หรือ แบบ PPP Gross Cost ก็ดีต่อบริษัท

แม้ว่าที่ผ่านมา BMCL จะมีผลประกอบการขาดทุน แต่ก็ขาดทุนลดลง เพราะภาครัฐสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเส้นใหม่ล่าช้า แต่เมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อเริ่มให้บริการในส.ค. 59 เชื่อมั่นว่าจะกลับมามีกำไร

อนึ่ง ในปี 57 งบรวมเสมือน(รวม 2 บริษัท) มีรายได้ 1.18 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 2,810 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนรวมกันเป็น 15,285 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ