AOT ร่วมมือ รฟท.-กทม.ทบทวนแผนเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมดอนเมือง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 6, 2015 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากกาศยานไทย(AOT)หรือ ทอท.กล่าวว่า ทอท.จะทบทวนและออกแบบระบบระบายน้ำของท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการก่อสร้างอาคาร และระบบสาธารณูปโภคทั้งภายในและภายนอก ทดม.ที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ ตลอดจนดำเนินการก่อสร้างแนวเนินสะดุดช่องทางเข้า – ออก ทดม.เพื่อใช้เป็นแนวกั้นน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากในช่วงเดือน ก.ย.และต้นเดือน ต.ค.58 เกิดพายุและฝนตกหนักบริเวณส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำฝนออกนอกพื้นที่ได้ทัน และเกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ทดม.มีระบบการระบายน้ำฝนแบบระบบปิด โดยเป็นการสูบระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่รอบ ทดม.ทั้งหมด 12 สถานี สามารถระบายน้ำได้ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมกับสถานีสูบระบายน้ำของกองทัพอากาศ (ทอ.) จำนวน 2 สถานีที่สามารถสูบระบายน้ำได้อีก 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และบ่อเก็บน้ำทางด้านทิศเหนือของ ทดม.สามารถรับน้ำได้ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในภาวะปกติจะคงน้ำไว้ 3 แสนลูกบาศก์เมตร

ทดม.จะแบ่งพื้นที่สูบระบายน้ำออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ (1) พื้นที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ประมาณ 2,300,000 ตารางเมตร) ระบายน้ำลงสู่คลองถนน มีสถานีสูบน้ำของ ทดม.จำนวน 4 สถานี ประสิทธิภาพการสูบน้ำ 20,520 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และสถานีสูบน้ำของ ทอ.จำนวน 2 สถานี ประสิทธิภาพการสูบน้ำ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปริมาณความสามารถในการสูบระบายน้ำรวม 47,020 ลูกบาศก์เมตร

(2) พื้นที่ทิศเหนือ (ประมาณ 2,500,00 ตารางเมตร) ระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร โดยทิศทางระบายน้ำผ่านท่อลอดถนนวิภาวดีรังสิต ไปออกลำรางสาธารณะริมทางรถไฟลงสู่คลองเปรมประชากร มีสถานีสูบน้ำจำนวน 3 สถานี และสูบน้ำลงบ่อเก็บน้ำอีก 2 สถานี ประสิทธิภาพการสูบน้ำรวม 19,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และ (3) พื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ประมาณ 1,160,000 ตารางเมตร) ระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร มีสถานีสูบน้ำจำนวน 3 สถานี ประสิทธิภาพการสูบน้ำรวม 9,240 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการระบายน้ำดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทดม.ได้ เนื่องจากมีน้ำฝนที่ท่วมขังผิวจราจรตลอดแนวถนนวิภาวดีรังสิตได้ไหลเข้าเขตพื้นที่ ทดม.ตามช่องทางเข้า – ออกต่างๆ ส่วนทางด้านทิศเหนือที่มีการสูบระบายน้ำไปลงยังลำรางสาธารณะริมทางรถไฟ จะทำให้น้ำบางส่วนล้นจากลำรางไหลท่วมพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟ และสำหรับการสูบระบายน้ำทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ ทดม.มีการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ – รังสิตของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และมีการถมกลบลำรางสาธารณะที่มีอยู่เดิม ซึ่งใช้เป็นทางระบายน้ำของ ทดม.จึงไม่สามารถระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากรได้อย่างสะดวก ทำให้น้ำฝนสะสมภายใน ทดม.เป็นจำนวนมาก

ทอท.ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยประสานกับ รฟท.เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 เพื่อขอความร่วมมือดำเนินการเร่งรัดให้ดำเนินการวางท่อระบายน้ำทดแทนลำรางระบายน้ำสาธารณะที่ถูกถมกลบ โดย รฟท.ได้ลงพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาจากการระบายน้ำเมื่อฝนตก และได้ดำเนินการขุดลอกลำรางระบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.58 ซึ่งจะทำให้สามารถสูบระบายน้ำเพิ่มได้อีก 7,200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง นอกจากนั้น ทอท.ยังได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แขวงการทางกรุงเทพ สำนักการระบายน้ำ และเขตดอนเมือง เป็นต้น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

รวมทั้ง ทอท.จะดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่อง เพื่อสูบน้ำลงสู่ลำรางสาธารณะข้างถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า ซึ่งจะสามารถสูบระบายน้ำได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และ ทอท.จะพร่องน้ำในพื้นที่ ทดม.ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อรองรับน้ำฝนที่อาจมีปริมาณมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ