(เพิ่มเติม) SCI ปิดเทรดวันแรก 7.00 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 18.64%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 13, 2015 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น SCI ปิดเทรดวันแรก 7.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.10 บาท(+18.64%)จากราคาขาย IPO ที่ 5.90 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 5,929.70 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 7.70 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 8.30 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 7.00 บาท

บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค(SCI)ระบุว่า บริษัทนำหุ้น SCI เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)ในวันนี้ (13 ตุลาคม 2558)เป็นวันแรก เปิดตลาดที่ระดับ 7.70 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 1.80 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30.51% จากราคาไอพีโอที่ 5.90 บาท/หุ้น ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายราคาปรับตัวสูงสุดที่ 8.30 บาท ก่อนปิดตลาดที่ 7.00 บาท

นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI เปิดเผยว่า วันนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดี ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง รายได้และกำไรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าแนวรายได้ในปี 58 จะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้รับประโยชน์จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4G และรับรู้รายได้จากการขยายเสาสัญญาณ 3G ที่เข่ามาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ประกาศแผน 5 ปี(58-62)ลงทุนระบบสายส่งมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้ไปคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ในลาว ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ประมาณไตรมาส 4/58 ลงทุนในโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ราวไตรมาส 1/59 และลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ร่วมกับพันธมิตร โดย SCI จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 30%"นายเกรียงไกร กล่าว

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน SCI กล่าวว่า ราคาหุ้น SCI ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาไอพีโอส่วนหนึ่งมาจากการตั้งราคาขายเหมาะสม และปัจจัยพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่งมีการกระจายสัดส่วนรายได้ทั้งในและต่างประเทศในอัตราที่เหมาะสม

และแผนการดำเนินธุรกิจที่มีความชัดเจน ทั้งในส่วนของการร่วมทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 45 MW ในประเทศไทย การขยายการลงทุนในเมียนมาร์ และการขยายการลงทุนในลาว ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจ รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ในอนาคตจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของ SCI เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งที่มาของรายได้จากทั้งในและต่างประเทศ

"มั่นใจว่านับจากนี้ไปหุ้น SCI จะกลายเป็นดาวดวงใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต โดยคาดว่ารายได้และกำไรของ SCI จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2562 หลังจากเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศไทย โครงการลงทุนในเมียนมาร์ และในสปป.ลาว นอกเหนือจากงานเสาไฟฟ้า เสาโทรมนาคม และตู้รางสวิทซ์บอร์ดและตู้คอนโทรลในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนการขยายการลงทุน 3 จี และ 4 จีของภาคเอกชน"นายวิชา กล่าว

ขณะที่ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า อัพไซด์ของ SCI ขึ้นอยู่กับการประมูล 4G และโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในลาวที่มีโอกาสได้งานสูง และเชื่อว่าผลประกอบการในปี 2016 จะยังสามารถเติบโตได้จากการเริ่มรับรู้รายได้ของโครงการในลาวที่จะเริ่มดำเนินงานในช่วง 4Q15 และในอนาคตจะมีรายได้หนุนจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในปี 2018 จึงประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นเทียบบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายกันเช่น ASEFA จะได้มูลค่าที่เหมาะสม 7.6 บาทอิง PER 16 เท่าสำหรับปี 2016F

SCI ผลิตและจัดจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคม และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน-พลังน้ำขนาดเล็กในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยบริษัทแบ่งลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มเป็น 4 ธุรกิจหลัก 1) ธุรกิจผลิตตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และอุปกรณ์รองรับ (16.31%) 2) ธุรกิจผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์ และบริการชุบสังกะสี (47.16%) 3) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน –พลังน้ำ (1.34%) 4) ธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าจำหน่าย (35.61%)

โครงการอนาคต : 1) โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าสี่ตัวเมือง เฟส 2 ในลาวระยะเวลา 28 เดือน โดยบริษัทได้ทำ MOU กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้วมูลค่า 67 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งใน 4Q15 2) โครงการร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในพม่ามูลค่า 26 ล้านดอลลาร์คาดเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2016 3) การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยกำลังการผลิต 52.5 MW คาดขายไฟจริง 45 MW โดยมีสัญญาขายไฟ 25 ปีโดยมี Adder 3.5 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี 4) การขยายงานของบริษัทสำหรับโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้าและโครงการอื่นๆ ในลาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ