SUPER จะลงทุนซื้อหุ้น SPP6 ทำโซลาร์ฟาร์ม 41 MWมูลค่าไม่เกิน 2.9 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 16, 2015 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) จะลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด (SPP6) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 41 เมกะวัตต์(MW) ในจ.ลพบุรี มูลค่าไม่เกิน 2,897.42 ล้านบาท โดยโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)แล้ว และจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ภายในเดือน ธ.ค.58

SUPER แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ อนุมัติให้บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด(SSE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม โดยการเข้าซื้อหุ้น SPP6 มูลค่าไม่เกิน 2,897.42 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าการซื้อหุ้น SPP6 รวม 848 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการซื้อหุ้นสามัญรวม 502.81 ล้านบาท และมูลค่าการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ 345.19 ล้านบาท ,มูลค่าเงินค่าหุ้นส่วนที่ยังเรียกชำระไม่ครบจำนวน 168.42 ล้านบาท และมูลค่าโครงการซึ่งไม่รวมส่วนของทุนจำนวน 1,881 ล้านบาท

ภายหลังการเข้าทำรายการแล้วจะส่งผลให้ SSE ถือหุ้นใน SPP6 ในสัดส่วน 49% และมีสิทธิในการลงมติและรับเงินปันผลในสัดส่วน 99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการซื้อหุ้นจากนายโปลโดมินิกวิน วัชรสินธุ์ และบริษัท พาวเวอร์ อินเทลลิเจนท์ เอเชีย จำกัด สำหรับการเข้าซื้อหุ้นสามัญรวม 502.81 ล้านบาทนั้นจะทำให้บริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% ขณะที่การเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ จะมีการชำระเต็มจำนวนมวลค่าซื้อรวม 345.19 ล้านบาท คิดเป็น 51% ของทุนจดทะเบียน โดยมีเงื่อนไขการโอนหุ้นเมื่อครบกำหนด 3 ปี นับจากวันที่เริ่ม COD หรือภายในวันที่ 31 มี.ค.62 ซึ่งจะทำให้ SSE เข้าถือหุ้นใน SPP6 ในสัดส่วน 100%

สำหรับ SPP6 มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดรวม 41 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนรวม 2,550 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากทุนจดทะเบียนในปัจจุบัน 669 ล้านบาทและเงินกู้จากสถาบันการเงิน 1,881 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอขอพิจารณาเงินกู้กับสถาบันการเงินในประเทศแห่งหนึ่ง โดยโครงการได้ลงนาม PPA กับกฟภ.แล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.ค.58 จะได้รับอัตราการรับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 5.66 บาท/หน่วย เป็้นเวลา 25 ปี จะต้องเริ่ม COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58

SUPER ระบุว่าการเข้าลงทุนใน SPP6 ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการทำกำไรของบริษัท โดยแหล่งเงินลงทุนที่บริษัทมีจะใช้ลงทุนราว 10,748 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการใช้สิทธิแปลงสภาพ SUPER-W1 ,SUPER-W2 และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 2 พันล้านหุ้น ให้แก่บุคคลในวงจำกัด(PP) หรือผู้ลงทุนสถาบัน ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.50 บาท ภายในวันที่ 19 ก.พ.59

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติการเพิ่มทุนใน 2 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท พาวเวอร์ เทคโนโลยี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ศรีนาคา พาวเวอร์ จำกัด โดยบริษัทจะต้องใช้เงินเพิ่มทุนรวม 683.77 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย.58 ซึ่งจะมาจากการใช้สิทธิแปลงสภาพของใบสำคัญแสดงสิทธิ SUPER-W1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 31 ก.ค.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,645 ล้านบาท

ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ ของ SUPER กล่าวว่า การเข้าทำรายการในครั้งนี้ส่งผลให้ SUPER มี PPA เป็น 501 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีอยู่ 460 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้บริษัมมี PPA สูงกว่าเป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ในปีนี้ และหลังจากที่บริษัทสามารถจัดหา PPA ได้ตามแผนแล้วก็จะทยอย COD เป็นระยะ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ภายในปีนี้เช่นกัน โดยในช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค. 58 บริษัทมีแผน COD รวมทั้งสิ้น 486.15 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของเดือนพ.ย.58 มีแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของกฟภ.รวม 43.50 และในเดือน ธ.ค.58 จะมีแผนการ COD ล็อตใหญ่จำนวน 442.65 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับยอด COD ที่มีอยู่แล้ว 28.95เมกะวัตต์ จะทำให้ภายในสิ้นปีนี้มี COD ทั้งสิ้น 515.1เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ