LANNA รุกแผนปี 59ขยายท่าเรือรับขนส่งปูนเม็ด,ขายถ่านหิน-เอทานอลเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2015 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) เปิดแผนงานปี 59 เตรียมงบลงทุน 50 ล้านบาท เพื่อขยายท่าเรือที่จ.พระนครศรีอยุธยา รองรับการส่งออกปูนเม็ดของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) และบมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการและรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ พร้อมวางเป้าการผลิตและขายถ่านหินในปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ หลังประเมินราคาถ่านหินยังทรงตัวและไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว ส่วนธุรกิจเอทานอลยังเติบโตได้ดีโดยวางเป้าหมายจะผลิตและขายเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ขณะที่ยังเดินหน้ามองหาการซื้อเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในอินโดนีเซีย และการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในไทยและอินโดนีเซีย

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ของ LANNA กล่าวว่า ในปี 59 บริษัทมีแผนจะลงทุนขยายท่าเรือที่จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยงบลงทุนราว 50 ล้านบาทเพื่อขนส่งปูนเม็ด (Clinker) ที่คาดว่าจะมีการส่งออกมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าการก่อสร้างท่าเรือจะเสร็จกลางปี 59 ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือนก.ค.59 และรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า มีลูกค้าหลัก คือ SCC และ SCCC โดยคาดว่า SCC จะส่งออกปูนเม็ดกว่า 2 ล้านตันในปีหน้า จากปีนี้กว่า 1 ล้านตัน ขณะที่ SCCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ส่งออกปูนเม็ดในระดับ 7 แสนตัน/ปี และปี 59 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.2 ล้านตัน/ปี

"เราจะเน้นเรื่องการใช้ท่าเรือ โดยจะไม่เพิ่มปริมาณถ่านหิน เราไปคุยกับปูนซิเมนต์ไทยจะขนส่งปูนเม็ดให้ เพราะต่อไปไทยจะส่งออกปูนเม็ดมากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังดูวอลุ่มที่ผ่านหน้าท่าเรืออยู่ ถ้าวอลุ่มเพิ่มขึ้นมากก็จะคุยกับบอร์ด และแจ้งตลาดฯในปีแรกลงทุนไม่เยอะ 50 ล้านบาท โดยจะทำปูนเม็ดก่อน ปีถัดไปอาจมองปูนผง ซึ่งเราจะทำให้โลจิสติกส์ของไทยดีขึ้น ดูแล้วธุรกิจนี้น่าจะต้องทำได้ดี"นายสีหศักดิ์ กล่าว

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ปี 59 บริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณผลิตเพื่อจำหน่ายถ่านหินที่ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่คาดว่าจะทำได้เพียง 5 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดระดับ 6 ล้านตัน เนื่องจากการผลิตจากเหมืองถ่านหินของบริษัททำได้ต่ำกว่าเป้า โดยการผลิตจากเหมือง LHI ทำได้ 3 ล้านตัน จากเป้า 3.5 ล้านตัน และ SGP ผลิตได้ 2 ล้านตัน จากเป้า 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ถ่านหินที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่เน้นการเพิ่มปริมาณการผลิต

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไตรมาส 4/58 คาดว่าราคาถ่านหินน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว จากต้นปีที่ลดลงต่อเนื่อง และมองจากนี้ไปอีก 4-5 เดือนข้างหน้า ราคาถ่านหินน่าจะทรงตัวโดยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้น เพราะการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินในตลาดโลกมีความล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินจากโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นยังไม่มีเข้ามา จากปกติจะเริ่มเจรจาในช่วงเดือนธ.ค.ของทุกปีและจบดีลในเดือนเม.ย.ของปีถัดไป ทำให้คาดว่าราคาถ่านหินน่าจะยังทรงตัวบริเวณ 55-60 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"ปี 59 ราคาถ่านหินน่าทรงตัว โดยมี contract ญี่ปุ่น support คงไม่เลวร้ายไปกว่านี้ เพราะญี่ปุ่นจะต้องทำโรงไฟฟ้าเพิ่ม อย่างไรก็ต้องใช้ถ่านหิน จึงมองราคาไม่น่าจะต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน แต่ถ้าราคาต่ำกว่า 50 เหรียญฯ ในส่วนของบริษัทก็คงต้องพิจารณาแล้วว่าจะทำต่อไปหรือจะเก็บ reserve ไว้ แต่ถ้าเป็นราคาปัจจุบันทำแล้วยังมีกำไรอยู่"นายสีหศักดิ์ กล่าว

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้า โดยปริมาณการผลิตและขายอยู่ที่ 105 ล้านลิตร ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้แล้ว 77 ล้านลิตร และคาดว่าราคาขายเฉลี่ยทั้งปีไม่น่าจะต่ำกว่า 25 บาท/กิโลกรัม จากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ราคาเฉลี่ยที่ 25.20 บาท/กิโลกรัม

ส่วนในปีหน้า ตั้งเป้าการผลิตและขายเอทานอลเพิ่มเป็น 115 ล้านลิตร หรือมีการใช้กำลังการผลิตราว 95-96% โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐบาลได้ผล ขณะที่ต้นทุนโมลาสในเดือนธ.ค.นี้ถูกลงกว่าเดิม โดยฤดูกาลใหม่ราคาเปิดที่ 4,200 บาท/ตัน จากฤดูก่อนหน้าอยู่ที่ 4,500 บาท/ตัน ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลถูกลงเกือบ 1 บาท/ลิตร แต่จะถูกกดดันจากราคาขายที่ถูกลง 1 บาท/ลิตรเช่นกัน

LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP ขณะเดียวกันยังถือหุ้น 51% ในบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) ซึ่งทำธุรกิจเอทานอลด้วย

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทยังได้เตรียมเงิน 50-60 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรองรับการซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะซื้อได้สูงสุด 2 เหมือง ซึ่งมองการซื้อเหมืองที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทันที รวมถึงยังจะร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมกันทำโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียและไทย โดยรอทางการอินโดนีเซียเปิดก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งเบื้องต้นพิจารณาโครงการขนาดเล็กต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์

"ปี 59 ตั้งเป้าที่จะทำเรื่องโรงไฟฟ้า ปัจจุบันต้องสำรวจเหมืองเพิ่ม ลงทุนเหมืองใหม่จะต้องมีปริมาณสำรองอย่างน้อย 30 ล้านตันขึ้นไป แต่ถ้าจะทำโรงไฟฟ้าด้วย ต้องมี 50 ล้านตันขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันถ้าถ่านที่มีค่าความร้อน 4,200 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ต้นทุนอยู่ที่ 1-2 เหรียญฯ/ตัน reserve ถ้าอยู่ได้ก็ใช้เงินราว 50-60 ล้านเหรียญฯ สูงสุด 2 เหมือง ตอนนี้หันดูเหมืองที่ไม่เคยดูแล้ว แต่ถ้าเป็น greenfield ปัจจุบันติดลบทั้งหมด"นายสีหศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ