(เพิ่มเติม) FAA ลดเกรดมาตรฐานการบินของไทย รอลุ้น EASA ประกาศผลตรวจสอบ 10 ธ.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 2, 2015 08:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal AviationAdministration : FAA) แจ้งผลการตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา จาก Category 1 (CAT1) เป็น Category 2 (CAT 2) ขณะที่ยังต้องรอลุ้น ผลการตรวจสอบของสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ขณะที่โฆษกรัฐบาล ชี้ว่านายกรัฐมนตรีมองเป็นโอกาสที่จะยกเครื่องการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนทั้งระบบ เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) และรักษาการผู้อำนวยการ กพท. เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 20.00 น. เมื่อวานนี้ FAA ได้แจ้งผลการตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย โดยลดอันดับไทยจาก CAT1 เป็น CAT2 โดย FAA ระบุเหตุผลว่า มาตรฐานปัจจุบันของไทยยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

"FAA ประกาศอย่างนี้ เราเพิ่มเที่ยวบินไม่ได้ แต่ของเราไม่มีอยู่แล้วก็เลยไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่เป็นเรื่องภาพลักษณ์"นายจุฬากล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ FAA ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทย เมื่อวันที่ 26-28 ต.ค.58 หลังจากที่ ICAO ได้ตรวจพบปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns :SSC)

นายจุฬา กล่าวว่า FAA ให้เหตุผลปัญหามาตรฐานการบินของไทยยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานหลังจากที่ ICAO ได้ขึ้นธงแดง และยอมรับว่าการแก้ไข SSC ทางกรมท่าอากาศยานและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำลังแก้ไขซึ่งต้องใช้เวลา คาดว่าจะสามารถปลดธงแดงได้ประมาณปลายปี 59

ส่วนผลการตรวจสอบของ EASA จะประกาศในวันที่ 10 ธ.ค. 58 หลังจากที่ได้เข้ามาตรวจทั้งหน่วยงานรัฐและสายการบินไทย (THAI) เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ EASA ไม่ได้ตรวจเหมือนกับ FAA เพราะมีการตรวจสายการบินไทยซึ่งมีเที่ยวบินไปยุโรปในหลายประเทศ และผลตรวจต้องมีการสอบถามไปยังสมาชิกในสหภาพยุโรป(EU) เป็นคะแนนเสียงในการเข้าตรวจสอบครั้งนี้ ไม่ได้เหมือนสหรัฐฯที่มีอำนาจออกผลตรวจสอบเพียงลำพัง

"วันที่ 10 ธ.ค.นี้ EASA ประกาศผล เราทำทุกอย่างที่ทำได้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับทางเขา ...เราเชื่ออย่างนั้น ว่า EASA จะไม่ downgrade ไทยเหมือน FAA แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเท่ากับหม้อข้าวใหญ่หายไปเพราะการบินไทยมีเที่ยวบินไปยุโรปเยอะ การลุ้นครั้งนี้มีเดิมพัน"อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าว

ทั้งนี้ EASA ระบุว่าเร็วเกินไปที่ไทยจะแก้ไขปัญหา SSC ซึ่งต้องใช้ความพยายามอีกมาก ซึ่งทาง EASA เน้นดูแผนการแก้ไขปัญหา SSC

ด้านพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่ FAA ลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทย เป็นเรื่องที่รัฐบาลเข้าใจและยอมรับผลการพิจารณา เม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะพยายามปรับปรุงในหลายเรื่องเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งของ ICAO และของ FAA แต่ต้องยอมรับความจริงว่า บางประเด็นไม่สามารถดำเนินการได้ทัน อาทิ การจัดหาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ให้ตรงตามแบบของเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา

"เชื่อว่า การประกาศของ FAA ครั้งนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบใด ต่ออุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทย เพราะปัจจุบัน สายการบินของไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังจากที่การบินไทยได้ยกเลิกเที่ยวบินตรงไปยัง LA เมื่อประมาณสองเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการประกาศของ FAA อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการบินพลเรือนไทยและอาจทำให้บางประเทศออกมาตรการหรือกำหนดเงื่อนไขต่อการบินพลเรือนของไทยในอนาคต"พลตรีสรรเสริญ กล่าว

พลตรีสรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าสถานการณ์นี้ถือเป็นจังหวะและโอกาสอันสำคัญ ที่จะยกเครื่องการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนทั้งระบบ เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับการบินของประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ผู้โดยสารทุกคน

"ท่านนายกรัฐมนตรี รับทราบแนวโน้มของผลการประเมินมาระยะหนึ่งแล้ว และได้สั่งการให้รวบรวมข้อสังเกตและพิจารณาของทั้ง ICAO และ FAA เข้าไว้ด้วยกันและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขไปพร้อมกันทุกประเด็น รวมทั้งให้หน่วยงานทุกภาคส่วนทำงานอย่างจริงจัง ให้ถือเป็นภารกิจสำคัญของชาติที่จะต้องตั้งใจแก้ไขให้ลุล่วง ท่านนายกฯต้องการให้ทุกอย่างเรียบร้อยโดยเร็ว แต่ก็จะไม่ตั้งเงื่อนไขเวลามาเป็นตัวกดดันคนทำงาน เพราะการตั้งเงื่อนเวลาที่ไม่อาจเป็นไปได้จริงก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกตัวเอง สู้เอาพลังนั้นมาทำงานอย่างจริงจังตรงไปตรงมาจะดีกว่า"

พลตรีสรรเสริญ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาปัญหามาตรฐานการบินพลเรือนของไทยถูกปล่อยปละละเลยมานาน ผลัดวันประกันพรุ่งในการแก้ไขมาโดยตลอด จนอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งทางอากาศลำดับต้นๆของภูมิภาคเอเชียในอนาคต แต่รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ประเทศไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันนี้เอาไว้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ