PDI เจรจา M&A โรงไฟฟ้าชีวมวลในปท. 3 แห่ง ลุยธุรกิจใหม่หลังหยุดธุรกิจสังกะสีปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 19, 2016 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เตรียมงบ 1.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่พร้อมเดินหน้า โดยเปิดแผนลงทุน 3 ธุรกิจใหม่ ทั้งพลังงานทดแทน ,กำจัดกากของเสีย และธุรกิจนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งในส่วนของพลังงานทดแทนนั้นอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ3 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ 1 แห่งภายในปีนี้ ขณะที่ประกาศหยุดธุรกิจสังกะสีอย่างแน่นอนในปี 60 เนื่องจากจะยุติการขุดแร่สังกะสีจากเหมืองแม่สอดในปีนี้ โดยการหยุดธุรกิจสังกะสีทำให้ต้องพิจารณาปรับลดพนักงานลงบางส่วนด้วย

นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ ของ PDI กล่าวว่า รายได้หลักของบริษัทในปีนี้จะยังคงมาจากธุรกิจสังกะสี โดยตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 58 จากปริมาณขายโลหะสังกะสีที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าในปีนี้จะอยู่ระดับ 6-7 หมื่นตันใกล้เคียงปีที่แล้ว แต่ยังขึ้นกับราคาโลหะสังกะสีในตลาดโลกด้วย ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มว่าจะขยับไปอยู่ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ในปีที่ผ่านมาราคาโลหะสังกะสีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,933 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการของบริษัทได้ศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่า หลังจากที่เหมืองแม่สอดยุติลงในปี 59 จะดำเนินธุรกิจสังกะสีต่อไปอย่างไร เพื่อให้มีผลตอบแทนที่ดีและเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสีย แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้พยายามหาแหล่งแร่เพิ่มเติมและให้ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และเมื่อเหมืองแม่สอดจะยุติในปลายปีนี้ หากบริษัทยังดำเนินธุรกิจสังกะสีต่อไป ก็ต้องพึ่งพาแร่นำเข้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้และออสเตรเลีย ขณะที่แร่นำเข้าจึงมีราคาสูงมาก เมื่อนำมาใช้ทดแทนแร่ต้นทุนต่ำจากเหมืองแม่สอดจะทำให้ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากทั้งในส่วนของโรงย่างแร่จังหวัดระยองและที่โรงถลุงจังหวัดตาก

ดังนั้น ธุรกิจสังกะสีจะมีค่าใช้จ่ายดำเนินการสูงกว่ารายได้มากและอาจจะส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นยังมีปัจจัยเสริมจากราคาโลหะสังกะสีโลกที่ตกต่ำและปริมาณความต้องการโลหะสังกะสีของอุตสาหกรรมในไทยที่ลดลงด้วยแล้ว จึงไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านราคาโลหะสังกะสีและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ

"คณะกรรมการบริษัท จึงมีมติให้ยุติธุรกิจสังกะสีในสิ้นปี 60 หลังจากที่เหมืองแม่สอดปิดดำเนินการในสิ้นปีนี้ และที่โรงงานระยองจะหยุดดำเนินการในปลายปีนี้เช่นกัน ส่วนโรงถลุงสังกะสีจังหวัดตาก กิจกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการถึงสิ้นปีนี้...สำหรับหน่วยงานสนับสนุนขององค์กรทั้งหมดในสำนักงานกรุงเทพจะปรับลดลงให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ยังเหลืออยู่ในตากและระยองรวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่"นายฟรานซิส กล่าว

นายฟรานซิส กล่าวว่า หลังการขายโลหะสังกะสีในปีนี้แล้ว บริษัทจะยังคงมีโลหะสังกะสีเหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอีกราว 3 หมื่นตันภายในครึ่งแรกของปี 60 ซึ่งสัดส่วนรายได้ของบริษัทในปี 60 จะมาจากส่วนใดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่รายได้จากธุรกิจสังกะสีจะปรับลดลงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริษัทได้ตัดสินใจเร่งรัดโครงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนบริษัทให้เข้าสู่ธุรกิจที่มีความยั่งยืน อาทิ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจการจัดการกากของเสีย และธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากโลหะต่างๆ

ทั้งนี้ หลายโครงการในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวนี้อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสุดท้ายและจะดำเนินการสร้างรายได้และผลกำไรโดยเร็วและให้มีความล่าช้าน้อยที่สุด คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนสนับสนุนธุรกิจเชิงกลยุทธ์แล้ว โดยมีเป้าหมายจะต้องดำเนินการอย่างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจที่เริ่มเองตั้งแต่ต้นและการเข้าไปซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย บริษัทจึงมุ่งเน้นไปยังกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

"ปี 59 รายได้ยังมาจากธุรกิจสังกะสีเป็นหลัก แม้เหมืองที่แม่สอดจะหยุดผลิตแร่ในปีนี้ บริษัทก็เริ่มปรับแผน ซึ่งเหมืองที่จังหวัดตากเหลือแร่ที่จะผลิตในปี 59 และครึ่งแรกปี 60 เท่านั้น หลังจากหยุดธุรกิจสังกะสีแล้ว บริษัทจะไปโฟกัสในธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน โดยเน้น 3 ธุรกิจหลักคือพลังงานทดแทน ธุรกิจจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการรีไซเคิล และธุรกิจจัดหาวัตถุดิบจากกากของเสียและบริหารจัดการกากของเสียเชิงนิเวศ"นายฟรานซิส กล่าว

นายฟรานซิส กล่าวว่า ในปี 59 จนถึงช่วงหนึ่งของปี 60 การผลิตโลหะสังกะสียังคงดำเนินการอยู่ตามปริมาณแร่สำรองของเหมืองแม่สอดที่เหลืออยู่โดยจะนำเข้าแร่เพิ่มเติมมาใช้ร่วมกันแต่ยังให้ผลตอบแทนที่ดี บริษัทมั่นใจว่าจะมีสินค้าจัดส่งให้ลูกค้าอย่างแน่นอน และจะช่วยเหลือพร้อมทั้งแนะนำลูกค้าในการหาซัพพลายเออร์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานจากธุรกิจสังกะสีในปีนี้และปีหน้าคาดว่าน่าจะดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับราคาโลหะสังกะสีโลกและปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ

หลังจากปี 60 เป็นต้นไป การดำเนินกิจกรรมด้านสังกะสีจะเป็นการรีไซเคิลอย่างสิ้นเชิงโดยมีแหล่งวัตถุดิบจากในประเทศและอาจจะนำเข้า ซึ่งไม่ต้องนำมาผ่านกระบวนการแยกสังกะสีด้วยไฟฟ้าแบบเดิมที่โรงถลุงตากซึ่งมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูง พร้อมกันนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก

ส่วนรายได้จากธุรกิจสังกะสีในปี 58 ยังคงเป็นบวก แม้ว่าปริมาณการขายในประเทศจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาโลหะสังกะสีโลกที่ปรับลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตกับปริมาณความต้องการใช้โลหะสังกะสีโลกมีความไม่สมดุลกัน ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลให้บริษัทยังคงมีกำไรมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และค่าพลังงานที่ต่ำลงรวมทั้งการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้อย่างต่อเนื่อง

          นายฟรานซิส กล่าวว่า บริษัทเตรียมงบลงทุน 1.5 พันล้านบาทสำหรับธุรกิจใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการที่พร้อมเดินหน้าหากการศึกษาโครงการพบว่ามีความเป็นปได้ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 3 แห่งในประเทศ โดยมีกำลังการผลิตแห่งละ 10 เมกะวัตต์ คาดว่าอีก 2-3 เดือนจะมีความชัดเจน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะซื้อกิจการได้ 1 แห่งในปีนี้
          ส่วนการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในจ.สุราษฎร์ธานีก่อนหน้านี้นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการทวบทวนโครงการ เพราะมีประเด็นเรื่องของชุมชน ทำให้อาจต้องเปลี่ยนพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม ที่บริษัทให้ความสนใจจะดำเนินการบนที่ดินบ่อเก็บกากแร่ของโรงงานที่จังหวัดตาก ต้องรอการได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากทางการด้วย
          สำหรับแหล่งเงินลงทุนของบริษัทนั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันมีหนี้สินต่อทุน (D/E) แค่ 0.3 เท่า ทำให้ยังมีความสามารในการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้
          ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจใหม่ของ PDI  3 กลุ่ม ได้แก่ พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งอยู่ระหว่างมองหาโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะเดียวกันยังไม่ทิ้งโอกาสในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์
          พีดีไอ อีโค มุ่งดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกากของเสียอย่างยั่งยืนในพื้นที่โรงงานตาก  โดยได้เจรจากับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการร่วมลงทุนเพื่อกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายในพื้นที่ภาคเหนือของไทย โดยจะตั้งอยู่ที่โรงงานตาก ผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงนิเวศในรูปแบบคอมเพล็กซ์ด้านการจัดการกากของเสีย ซึ่งได้เลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย คาดว่าพีดีไออีโคจะลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) และข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น (SHA) ในอีกไม่นานนี้
          พีดีไอ แมททีเรียล  ได้ร่วมทุนกับบริษัท คาร์บอน รีดักชั่น เทคโนโลยี (CRT) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านรีไซเคิลของสแกนดิเนเวีย โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสังกะสีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยผ่านกระบวนการซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ  ( UHT: Ultra-high-temperature)
          โดยบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที ได้รับสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้โดยได้รับสิทธิดังกล่าวจากบริษัท สแกนอาร์ค พลาสมา เทคโนโลยี ประเทศสวีเดน  ซึ่งในเอเชียยังไม่มีประเทศใดนำเทคโนโลยีนี้มาใช้  โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรีไซเคิลของเสียอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าสูงสุดในเชิงพาณิชย์  ทั้งนี้บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 61 ที่โรงงานพีดีไอระยอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ