BM ลุ้นขาย IPO-เทรด พ.ค.นี้ วางเป้าโตต่อเนื่องดันสัดส่วนรายได้ชิ้นส่วนคูโบต้าเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 11, 2016 09:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) คาดว่า BM จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ในราวเดือน พ.ค.59 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลของบริษัทไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

BM ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ รางเดินสายไฟฟ้า ตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า ตู้โลหะตู้ควบคุมไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากโลหะอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้า และเป็นผู้จำหน่ายท่อร้อยสายไฟฟ้า ภายใต้ตราสินค้า BSM, BM, BS และ BEST ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 200,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 400,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 150,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 300,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM เปิดเผยว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อจะนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานหลังที่สองและลงทุนในเครื่องจักรต่างๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต สำหรับรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น สินค้า และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ โดยแผนการปรับปรุงโรงงานใหม่หลังที่ 1 อยู่ระหว่างการสั่งซื้อและติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม มูลค่าการลงทุนราว 30 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตอย่างเต็มที่ภายในไตรมาส 3/59

ส่วนการสร้างโรงงานแห่งใหม่หลังที่ 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 4/59 และสามารถเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่ปี 60 เป็ฯต้นไป พื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 65 ล้านบาท และเครื่องจักรรวมทั้งยานพาหนะอีก 52 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังจะมีการปรับปรุงพื้นที่โรงงานเดิมเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารขนาดเล็กและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/59 ในส่วนนี้จะใช้แหล่งเงินทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO

นายธีรวัต กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตเช่นเดียวกับปีที่ผ่าน ๆ มาที่เติบโตในระดับ 15-20% จากปี 58 ที่มีรายได้จากการขายสินค้ารวม 794.50 ล้านบาท เพราะแม้ว่าบางปีจะเกิดปัญหากับภาพรวมเศรษฐกิจและมีความไม่สงบทางการเมือง แต่บริษัทก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้มีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปในหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการร่วมมือกับสยามคูโบต้าเพื่อผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเกษตร คือ รถเกี่ยวนวดข้าว ที่เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในแง่ของกำไรสุทธิในช่วงปี 55-58 กำไรสุทธิ (CAGR) เติบโตถึง 58.13% อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 13.22% ในปี 55 มาเป็น 22.22% ในปี 58 และอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นจาก 2.52% เป็น 8.40% ขณะที่สินทรัพย์รวมเพิ่มจาก 498.52 ล้านบาท เป็น 640.55 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวม ณ สิ้นปี 58 อยู่ที่ 357.47 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้การค้าและทุนหมุนเวียน

นายวีรวัต กล่าวว่า ในปีนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนธุรกิจของบริษัทเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เชื่อว่าสินค้าของบริษัทจะมีส่วนเข้าร่วมด้วย ทั้งรถไฟฟ้าทุกสายที่จะต้องใช้รางร้อยสายไฟ และตู้โลหะ, รถไฟความเร็วสูงที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าเช่นกัน และ งานขยายสยามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่จะเป็นโอกาสของรางและท่อร้อยสายไฟ ตู้คอนโทรล และงานเหล็กอื่นๆ เป็นต้น ขณะที่การลงทุนด้านโทรคมนาคมทั้งการติดตั้งเสาและอุปกรณ์ใหม่เพื่อรองรับระบบ 4G และขยาย 3G ที่จะเพิ่มยอดคำสั่งซื้อตู้สื่อสาร รวมถึงการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่าง ๆ

ปัจจุบัน บริษัทยังมีรายได้หลักมาจากกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ได้แก่ รางและท่อร้อยสายไฟฟ้า แต่ในอนาคตจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มชิ้นส่วนโลหะสูงขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกันที่ 50% จากปีก่อนอยู่ที่ 25.57% หลังจากมีความร่วมมือกับสยามคูโบต้าที่น่าจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอีกอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายตลาดเครื่องจักรกลเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รายได้ในกลุ่มอื่น ๆ ก็ยังมีศักยภาพการเติบโต ทั้งการขายโลหะเชื่อมประกอบ, แม่พิมพ์โลหะ เครื่องมือ และอุปกรณ์, ตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า และตู้โลหะ รวมทั้งแผงควบคุมไฟฟ้าและโคมไฟฟ้า

"เครื่องจักรกลเกษตรแม้ว่าในประเทศจะมีภัยแล้งทำให้เติบโตได้ไม่ดีนัก แต่พม่า เขมร ลาว ยังมีความต้องการมาก และน่าจะเติบโตได้มากในช่วงปี 59-60 ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลดีจากการเกิด AEC ด้วย"นายธีรวัต กล่าว

ด้านนายเอกจักร บัวหภักดี ผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ บล.โนมูระ พัฒนสิน (CNS) เปิดเผยว่า โบรกเกอร์ 7 รายได้จัดทำบทวิเคราะห์หุ้น BM ได้แก่ CNS, บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย), บล.แอปเปิลเวลท์, บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS), บล.โกลเบล็ก, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) พร้อมกับให้ราคาเป้าหมาย (Fair Price) ในช่วง 3.42-3.62 บาท/หุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ